บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยว่า บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) ได้กำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) ของการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นการทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 660 ล้านหุ้นที่ราคา 32 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดจากช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น (Price Range) ที่ 30-32 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวม 21,120 ล้านบาท โดยถือเป็นหุ้น IPO ที่มีมูลค่าการเสนอขายสูงที่สุดในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นวันแรกในวันที่ 9 ธ.ค.65 นี้
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ ITC กล่าวว่า การเปิดจองซื้อหุ้น ITC ในช่วงวันที่ 22-25 พ.ย.65 พบว่าได้รับความสนใจและตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ 27 ราย แบ่งเป็นผู้ลงทุนสถาบัน Cornerstone Investors ในประเทศไทย 19 ราย และผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ในต่างประเทศ 8 ราย คิดเป็นจำนวนหุ้นรวม 333.77 ล้านหุ้น หรือประมาณ 50.57% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้
อีกทั้งยังได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากนักลงทุนที่เข้าร่วมงานไอพีโอโรดโชว์ในกรุงเทพฯ และ 3 จังหวัดใหญ่ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสงขลา และจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ รวมกว่า 1,000 คน
จากผลตอบรับที่ดีเยี่ยมดังกล่าว ไอ-เทล จึงได้กำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายของหุ้น ITC ที่ราคา 32 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวม 21,120 ล้านบาท และทำให้หุ้น ITC ถือเป็นหุ้นที่มีมูลค่าการเสนอขายสูงที่สุดในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของตลาดหุ้นไทย โดยราคาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการสร้างผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนของบริษัทแม้ในภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การลงทุนที่มีความผันผวน โดยคาดว่าจะสามารถจดทะเบียนซื้อขายใน ตลท. เป็นวันแรกในวันที่ 9 ธ.ค.นี้
นายพิชิตชัย วงศ์ปิยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ITC กล่าวว่า ITC เป็น 1 ใน 10 ธุรกิจผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงระดับโลกจากกลุ่มไทยยูเนี่ยน โดยการเข้าจดทะเบียนใน ตลท. เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนในการปรับปรุงโรงงานทั้งสองแห่งในจังหวัดสงขลา และสมุทรสาคร ให้ทันสมัยด้วยระบบและเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อขยายกำลังและประสิทธิภาพการผลิต ขยายระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการผลิต พร้อมลงทุนในระบบคลังสินค้าและติดฉลากอัตโนมัติ รวมถึงต่อยอดศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขยายธุรกิจ ชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับบริษัท ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับความสามารถในการดำเนินงานและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนตามเป้าหมายหลักของบริษัท