บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) คาดว่าแนวโน้มรายได้ในปี 66 จะเติบโตแข็งแกร่ง บริษัทจึงตั้งเป้าในการมีกำไรสุทธิในปีนี้ โดยมีแผนงานลดต้นทุนการดำเนินงานต่อหน่วย จากการเพิ่มอัตราการใช้งานเครื่องบินขึ้นเป็น 12.5 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน รวมถึงตั้งเป้าอัตราขนส่งผู้โดยสารที่ 87%
"บริษัทคาดว่าปี 2566 จะเป็นปีแห่งการกลับสู่สภาวะปกติหลังจากทั่วโลกคุ้นเคยกับโควิด-19 บจ. ไทยแอร์เอเชีย จะยังคงรักษามาตรฐานการให้บริการให้อยู่ในระดับสูง สะท้อนด้วยการรักษาสถิติด้านความตรงต่อเวลา รวมทั้งมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนผ่านการทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆในภาคการท่องเที่ยว และยกระดับการสื่อสารกับผู้โดยสารเกี่ยวกับประเด็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น" AAV ระบุ
บจ.ไทยแอร์เอเชีย (บริษัทย่อย) ตั้งเป้าขนส่งผู้โดยสาร 20 ล้านคนในปี 66 เทียบกับตัวเลขสูงสุด 22.2 ล้านคนที่เคยทำได้ในปี 62 โดยจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศคาดว่าจะฟื้นตัวได้เท่ากับระดับปี 62 ซึ่งคิดเป็นประมาณ 13 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าของปี 65 มาเป็น 7 ล้านคนในปีนี้จากปีก่อน 2 ล้านคน สนับสนุนโดยความต้องการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน การฟื้นตัวที่ดีต่อเนื่องของภูมิภาคเอเชียใต้ และการเริ่มให้บริการเที่ยวบินไปและกลับจากประเทศจีน
ไทยแอร์เอเชีย มุ่งมั่นในการรักษาความเป็นผู้นำในตลาดภายในประเทศด้วยเครือข่ายเส้นทางที่กว้างขวางและอัตราค่าโดยสารที่แข่งขันได้ พร้อมยังให้ความสำคัญกับตลาดระหว่างประเทศมากขึ้น โดยภายในเดือน มิ.ย.66 ไทยแอร์เอเชีย มีแผนในการทำการบินไปยัง 11 เมืองในประเทศจีน ซึ่งจะมีจำนวนเที่ยวบินคิดเป็นกว่า 73% ของจำนวนเที่ยวบินไปยังจีนในปี 62
นอกจากนั้น ยังมีแผนการเปิดให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น จากดอนเมืองไปจาการ์ตา (อินโดนีเซีย) มะนิลา (ฟิลิปปินส์) และโคลัมโบ (ศรีลังกา) โดยมีแผนที่จะนำเครื่องบินทั้งฝูงจำนวน 53 ลำมาทำการปฏิบัติการบินให้ครบในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงคาดว่าจะมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่น่าจะยืดเยื้อ และอาจส่งผลต่อราคาน้ำมันอากาศยานให้ยังคงอยู่ในระดับสูง หรือลดลงอย่างช้าๆ ด้วยเหตุนี้ บริษัทจะใช้ความระมัดระวังในการเข้าทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมันอากาศยาน โดยพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่เหมาะสม ในขณะเดียวกัน บริษัทยังคงเข้าทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วนตามนโยบายของบริษัท และพยายามลดความเสี่ยงผ่านการบริหารกระแสเงินสดรับและจ่ายให้อยู่ในสกุลเงินเดียวกัน
ส่วนผลประกอบการของปี 65 บริษัทมีผลขาดทุนส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ 8,030 ล้านบาท โดยหลักมาจากผลขาดทุนทางภาษีในงวดที่นำไปใช้ได้ในอนาคต โดยบริษัทมีขาดทุน EBITDA ลดลงมาอยู่ที่ 1,277.9 ล้านบาท ดีขึ้นจากปีก่อน ต้นทุนทางการเงิน 2,219.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของหนี้สินตามสัญญาเช่า ("TFRS 16") และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ทั้งนี้ อัตราต้นทุนทางการเงินสุทธิ (effective interest rate) อยู่ที่ 5% เพิ่มขึ้นจาก 4.5% ในปี 64 รายได้ภาษีเงินได้อยู่ที่ 2,451.6 ล้านบาท โ
ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 18,290.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 306% จากปีก่อน จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และเปิดพรมแดนอย่างเต็มที่เมื่อวันที่ 1 ก.ค.65 ส่งผลให้ ไทยแอร์เอเชีย ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 9.95 ล้านคนในระหว่างปี เพิ่มขึ้น 240% ทำให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 243% และปริมาณที่นั่งเพิ่มขึ้น 176%
ทั้งนี้ เฉพาะไตรมาส 4/65 ไทยแอร์เอเชีย มีผลประกอบการที่ดีที่สุดในรอบ 3 ปี โดยมีปริมาณขนส่งผู้โดยสารจำนวน 4.06 ล้านคน เพิ่มขึ้น 253% เทียบกับช่วงเดียวของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 47% เทียบกับไตรมาสก่อน จำนวนผู้โดยสารภายในประเทศเติบโตขึ้น 43% เทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่จำนวนผู้โดยสารต่างประเทศเร่งตัวขึ้น 61% เทียบกับไตรมาสก่อน
ในไตรมาสดังกล่าว ไทยแอร์เอเชีย เปิดเส้นทางบินใหม่ ได้แก่ ดอนเมือง-ฟุกุโอกะ ดอนเมือง-ธากา และ ดอนเมือง-ลัคเนา และเพิ่มเส้นทางบินใหม่จากเชียงใหม่-ดานัง และเชียงใหม่-ฮานอย นอกจากนี้ยังเพิ่มความถี่เที่ยวบินไปสิงคโปร์ขึ้น 2 เท่า เป็น 42 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ หลังจากสนามบินชางฮีเปิดชานชาลาที่ 4
ณ สิ้นปี 65 บริษัทมีเครื่องบินที่ปฏิบัติการบินอยู่ 42 ลำ อัตราขนส่งผู้โดยสารสูงกว่า 90% ซึ่งเป็นระดับที่เคยทำได้ในไตรมาส 1/62
จากเหตุผลดังกล่าวทำให้บริษัทมีรายได้รวม 12,498.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 481% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 155% เทียบกับไตรมาสก่อน อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 1,652 บาท เพิ่มขึ้น 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 18% จากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งมาจากค่าธรรมเนียมความผันผวนราคาน้ำมันของเส้นทางบินในประเทศ และอัตราค่าโดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากบริการเสริมอยู่ที่ 1,571.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 567% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 65% เทียบกับไตรมาสก่อน โดยรายได้จากบริการเสริมต่อผู้โดยสารปรับตัวขึ้นเป็น 387 บาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หนุนโดยรายได้บริการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่อง รายได้ค่าธรรมเนียมอื่น และรายได้จากบริการเสริมบนเครื่องบิน
EBITDA เท่ากับ 1,628.9 ล้านบาท กลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกตั้งแต่โควิดระบาด ทั้งนี้ จากค่าเงินบาทแข็งขึ้นจากจาก 38.1 บาท/ดอลลาร์ในไตรมาส 3/65 เป็น 34.7 บาท/ดอลลาร์ในไตรมาสนี้ ทำให้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้ 3,712 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ต้นทุนทางการเงิน 484.2 ล้านบาท ลดลง 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 23% จากไตรมาสก่อน จากหนี้สินและหนี้สินตามสัญญาเช่าที่ลดลง นอกจากนี้ บริษัทบันทึกค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จำนวน 689.9 ล้านบาท ทำให้มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 3,114.4 ล้านบาท ฟื้นจากขาดทุน 992.7 ล้านบาทในไตรมาส 4/64 และขาดทุน 4,050.2 ล้านบาทในไตรมาส 3/65