SICCO แจง Q1/51 กำไรพุ่ง 209% เหตุรายได้รวมเพิ่มหลังดอกเบี้ยจ่ายลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 21, 2008 10:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางสาววราภรณ์ เก่งสุรการ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัทเงินทุน สินอุตสาหกรรม (SICCO) ชี้แจงงบการเงินสำหรับไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2551 บริษัทฯมีกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม 61.99 ล้านบาท เทียบกับระยะเดียวกันในปี 2550 ที่ 20.04 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 209.40  สำหรับกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2551  ตามงบการเงินเฉพาะมีกำไรสุทธิ 42.27 ล้านบาท เทียบกับระยะเดียวกันในปี 2550 ที่ 27.95 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.26  
ทั้งนี้ ตามงบการเงินรวมบริษัทฯมีรายได้รวมสุทธิ 437.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2550 ที่มีรายได้รวมสุทธิ 368.92 ล้านบาท สำหรับงบการเงินเฉพาะ บริษัทฯ มีรายได้รวมสุทธิ 301.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2550 ที่มีรายได้รวมสุทธิ 280.61 ล้านบาท สาเหตุที่รายได้รวมสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นเพราะค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงจาก 426.06 ล้านบาทมาเป็น 241.50 ล้านบาทหรือลดลงร้อยละ 43.32 ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยของบริษัทฯในไตรมาสนี้ลดลงโดยมีอัตราดอกเบี้ยจ่ายเฉลี่ยร้อยละ 3.58 เทียบกับอัตราดอกเบี้ยจ่ายร้อยละ 5.11 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2550
บริษัทฯ มีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลจำนวน 539.65 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.53 จากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ บริษัทฯเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติการให้เช่าซื้อใหม่ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ ทำให้รายได้ดอกเบี้ยเฉพาะจากการให้เช่าซื้อมีอัตราหดตัวลงร้อยละ 7.63 จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้สัดส่วนรายได้ให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักยานยนต์ของผลการดำเนินไตรมาส 1 ปี 2551 อยู่ที่ 90 : 10
ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในไตรมาส 1 ปี 2551 มีจำนวน 242.93 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 43.10 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2550 ทั้งนี้เกิดจากต้นทุนเงินฝากที่ลดลง ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเท่ากับ 539.65 ล้านบาท เมื่อเทียบจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าเท่ากับ 631.41 ล้านบาท
บริษัทฯ ตั้งรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเฉพาะงบการเงินของบริษัทฯ จำนวน 93.83 ล้านบาท สูงกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนจำนวน 52.15 บาท โดยบริษัทฯยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรอง ทั้งนี้อัตรา NPL ของการให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์โดยเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่อัตราร้อยละ 4.03 และ 29.61 ของการให้เช่าซื้อแต่ละประเภทตามลำดับ บริษัทฯได้ตั้ง
สำรองครบถ้วนตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี IAS 39 ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิหลังหักหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้เท่ากับ 204.07 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.20 จากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเฉพาะงบการเงินของบริษัทฯ เท่ากับ 97.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.14 ล้านบาทหรือร้อยละ 27.77 จากงวดไตรมาส 1 ปี 2550 โดยสาเหตุจากขาดทุนจากเงินลงทุนลดลง และเพิ่มความสามารถในการหารายได้อื่นๆเพิ่มขึ้น เช่น รายได้ค่าธรรมเนียม รายได้จากการบริหารหนี้ เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายดำเนินงานเท่ากับ 244.53 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนหน้าร้อยละ 1.23 โดยบริษัทได้ควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน เงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ