ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ชี้แจงข้อมูลงบการเงินไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ซึ่งผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่อ งบการเงินเนื่องจากมีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญต่อความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินที่มีสาระสำคัญ ได้แก่
(1) การประเมินการด้อยค่าสินทรัพย์เงินลงทุนในบริษัทย่อยเครื่องหมายการค้าลิขสิทธิ์รายการ และค่าความนิยม รวม 10,789 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างดำเนินการประเมินซึ่งอาจมีผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์ ขณะที่บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น 4,813 ล้านบาท
(2) การขาดสภาพคล่องทางการเงิน
และ (3) การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ส่งผลให้ถือเป็นเหตุผิดนัดหนี้อื่นๆ รวม 4,558 ล้านบาท โดยบริษัทยังไม่ตั้งประมาณการความเสียหายและดอกเบี้ยผิดนัดชำระ
ทั้งนี้ ให้ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 และขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงิน JKN และติดตามคำชี้แจงของบริษัท
ในงบการเงิน 9 เดือน ปี 2566 สินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการประเมินเพื่อพิจารณาว่าอาจมีรายการปรับปรุงมูลค่าตามความเห็นผู้สอบบัญชี
1.1 เงินลงทุนในบริษัทย่อย มูลค่า 2,400 ล้านบาท
1.2 เครื่องหมายการค้า Miss Universe มูลค่า 1,333 ล้านบาท
1.3 ลิขสิทธิ์รายการ มูลค่า 6,278 ล้านบาท
1.4 ค่าความนิยมซื้อบริษัทย่อย มูลค่า 718 ล้านบาท
สินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการประเมินมีมูลค่าตามงบการเงิน 10,789 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น 4,813 ล้านบาท หากถูกพิจารณาตั้งด้อยค่า อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทยังไม่มีการขาย บจก. เอ็มเอ็น เบฟเวอเรจ (MNB) ? ธุรกิจผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ให้บุคคลภายนอก และอยู่ระหว่างพิจารณาแผนใหม่ มูลค่าขาย 56 ล้านบาท ต่ำกว่าราคาซื้อ 27% (บริษัทลงทุนมาแล้ว 2 ปี และมีค่าความนิยม 40 ล้านบาท) และมีเงินให้กู้ยืมคงค้าง 42.4 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทแจ้งผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 คณะกรรมการอนุมัติการขายหุ้นทั้งหมด 60% ของ MNB โดยระบุว่าไม่มีหนี้คงค้างและภาระค้ำประกัน (ข่าวบริษัทวันที่ 30 มิถุนายน 2566)
2. ลูกหนี้การค้า-กิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกันซึ่ง 97% ของยอดลูกหนี้การค้าคงค้างเป็นลูกค้ารายใหญ่ 12 รายแรกที่บริษัทมีรายได้ค่าสิทธิจากการทำสัญญากับลูกค้ากลุ่มนี้ คิดเป็น 99% ของยอดรายได้ค่าสิทธิ (หมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 6) จำนวน 2,334 ล้านบาท โดยลูกหนี้ค้างชำระ 1,190 ล้านบาท คิดเป็น 51% ของลูกหนี้-กิจการไม่เกี่ยวข้องกัน และลูกหนี้ค้างชำระมากกว่า 6 เดือน 669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% จาก สิ้นปี 2565 ในขณะที่บริษัทตั้งค่าเผื่อฯ 88 ล้านบาท
3.การคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากกรรมการและการลงทุนจำนวนมากในการซื้อลิขสิทธิ์ โดยในไตรมาส 2-3 ปี 2566 บริษัทไม่สามารถจัดหาเงินทุนมาชำระหนี้ หุ้นกู้จนทำให้ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 600 ล้านบาท ที่ครบกำหนดวันที่ 1 กันยายน 2566 ขณะที่ปรากฏข้อมูลว่ามีการจ่ายคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากกรรมการที่ไม่คิดดอกเบี้ยทั้งจำนวน 300 ล้านบาท ในไตรมาส 2 และลงทุนซื้อลิขสิทธิ์รายการจำนวนมากในไตรมาส 2-3 รวม 2,524ล้านบาท
ทั้งนี้ ประเด็นที่ขอให้บริษัทชี้แจง รายละเอียดเกี่ยวกับรายการ ความคืบหน้าดำเนินการ ผลกระทบต่อฐานะการเงิน นโยบายการให้เครดิตแก่ลูกค้า นโยบายการติดตามหนี้และการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ความเห็นของคณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้ที่เกี่ยวข้อง