MILL เปิดหนี้ระยะสั้น-ตั๋วเงิน-หุ้นกู้รวมกว่า 1 หมื่นลบ.ครบกำหนดเม.ย.-ธ.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday April 7, 2024 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. มิลล์คอน สตีล (MILL) เปิดเผยว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ขอให้บริษัท ชี้แจงข้อมูลที่ปรากฏในงบการเงินประจำปี2566 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนได้รับทราบข้อมูลอย่างชัดเจน และเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจในการลงทุนนั้น บริษัทขอเรียนชี้แจง ดังนี้

1. ความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้และความสามารถของกลุ่มบริษัทในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

สรุปภาระหนี้หุ้นกู้และหนี้สถาบันการเงินที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี เวลาที่ถึงกำหนดชำระ เหตุที่จะส่งผลให้เกิด Cross Default เงื่อนไขสำคัญของสัญญาเงินกู้ที่บริษัทต้องดำรง และการดำเนินการเพื่อให้สามารถดำรงสถานะให้เป็นไปตามเงื่อนไขเงินกู้

  • หนี้หุ้นกู้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 404.42 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดชำระ 9 ธันวาคม 2567 มีเงื่อนไข ต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในอัตราส่วนไม่เกิน 2:1 ณ วันสิ้นงวดหกเดือนและวันสิ้นปีบัญชีของงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทย่อยผู้ออกหุ้นกู้ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำรงสัดส่วน โดยมีสัดส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ 31 ธันวาคม 2566เท่ากับ 0.56:1 ซึ่งเป็นไป
ตามเงื่อนไข ทั้งนี้ในข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิของหุ้นกู้ไม่มีการกำหนดเงื่อนไข Cross Default
  • หนี้สถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เป็นหนี้ระยะสั้น 10,564.18 ล้านบาท หนี้ระยะยาว 820.37 ล้านบาท (ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ถูกจัดประเภทเป็นหนี้ระยะสั้น) โดยปัจจุบันธนาคารไม่ได้มีการเรียกคืนหนี้ระยะยาวดังกล่าว บริษัทยังคงชำระเงินต้นตามเงื่อนไขวงเงินปกติ

อย่างไรก็ตามหนี้ระยะสั้น 10,564.18 ล้านบาทนั้นมีกำหนดชำระตั้งแต่เดือน เมษายน ถึงเดือน ธันวาคม ปี 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ บริษัทมีหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่า 188 ล้านบาทซึ่งจะครบกำหนดชำระในวันที่ 12 เมษายน 2567 ซึ่งบริษัทได้ชำระไปแล้ว 24.32 ล้านบาท ส่วนที่เหลือได้ขยายระยะเวลาชำระไปเป็นวันที่ 10 พฤษภาคม 2567

บริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นด้วยเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท โดยรับชำระค่าสินค้าจากลูกหนี้การค้าและเบิกใช้วงเงินใหม่ตามการดำเนินธุรกิจของบริษัทตามปกติ

ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพคล่องเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องนั้น บริษัทติดตามผลการดำเนินงานและมีแผนการระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งเจรจากับสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่ามีกระแสเงินสดเพียงพอสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องซึ่งแผนระยะสั้นคือรับชำระค่าสินค้าจากลูกหนี้การค้า ส่วนแผนระยะยาวนั้นบริษัทมีแผนที่จะขอปรับเปลี่ยนวงเงินหมุนเวียนระยะสั้นบางส่วนเป็นวงเงินระยะยาวเพื่อทำให้สัดส่วนทุนหมุนเวียน(Current Ratio) ดีขึ้น

2. การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของรายการลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น ? กิจการที่เกี่ยวข้องกัน

สาเหตุที่ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นกับกิจการที่เกี่ยวข้องกันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และอธิบายลักษณะรายการที่เกิดขึ้นโดยสังเขป ได้แก่ ข้อมูลลูกหนี้ มูลค่ารายการ ราคาและเงื่อนไขการค้า เช่น ระยะเวลาการให้เครดิตที่เทำกับบุคคลหรือกิจการดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขการค้าปกติที่ทำกับลูกค้าทั่วไปหรือไม่ อย่างไร

บริษัทระบุว่า สาเหตุหลักเกิดจากลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้นมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากับบริษัทคู่ค้ารายหนึ่ง (ซึ่งกรรมการของบริษัทคู่ค้าแต่ละท่านมีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันไม่เกิน 10% ซึ่งไม่เข้าข่ายรายการเกี่ยวโยงของตลาดหลักทรัพย์) โดยเป็นบริษัทจัดจำหน่ายเหล็กเส้นก่อสร้างแห่งหนึ่ง มูลค่ารายการ ประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยให้ราคาตามเงื่อนไขการค้าและให้เครดิตเทอม 180 วัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขปกติ โดยสาเหตุหลักเกิดจากการค้ำประกันให้กับกิจการที่บริษัทไปลงทุนในประเทศพม่า มูลค่ารายการ 170 ล้านบาท

บริษัทจึงตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้น 170 ล้านบาทในปี 2566 สาเหตุที่ตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้น 170 ล้านบาท ในปี 2566 เนื่องจากบริษัทได้ขอให้สถาบันการเงินแห่งหนึ่งออก Standby Letter of Credit (SBLC) เพื่อเป็นหลักประกันในการอำนวยสินเชื่อ Working Capital ให้กับกิจการที่บริษัทไปลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กิจการดังกล่าวมีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องมาจากมาจากความขัดแย้งในประเทศพม่า ปัญหาเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงทำให้กิจการดังกล่าวไม่สามารถชำระหนี้สินกับสถาบันการเงินแห่งนี้ได้สถาบันการเงินแห่งนี้จึงได้เรียกร้องให้บริษัทชำระเงิน 4,814,751.24 เหรียญสหรัฐตามภาระ SBLC ข้างต้น ทั้งนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินดังกล่าวในการชำระหนี้ต่อไป โดยรายการดังกล่าวเป็นการค้ำประกันเงินกู้ยืมซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนการถือหุ้นโดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท

3. การตั้งด้อยค่าของเงินลงทุนในกิจการร่วมค้าและบริษัทร่วม

3.1 สาเหตุที่บริษัทดังกล่าวมีผลประกอบการขาดทุน และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตั้งด้อยค่าเงินลงทุนในกิจการร่วมค้าและบริษัทร่วม (บริษัทจะมีการเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อความครบถ้วนอีกครั้งภายในวันที่ 30 เมษายน 2567) สาเหตุที่กิจการร่วมค้า/บริษัทร่วม มีผลประกอบการขาดทุนมาจากความขัดแย้งในประเทศพม่า ปัญหาเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ปัญหาความผันผวนของสกุลเงินพม่าและภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ยอดขายตกต่ำลงเทียบกับช่วงก่อนความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศพม่า โดยหลักเกณฑ์ตั้งด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วมและกิจการร่วมค้าในงบการเงินเดี่ยวให้เท่ากับงบการเงินรวมจากการรับรู้ผลประกอบการตามวิธีส่วนได้เสีย (take equity) มาตั้งแต่เริ่มลงทุน เนื่องจากผลประกอบการในกิจการที่ไปลงทุนที่ประเทศพม่าเกิดผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นการลงทุนของบริษัทย่อย ซึ่งเป็นไปตามแผนธุรกิจของกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับโรงคัดแยกขยะและการนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่และพลังงานทางเลือก

3.2 บริษัทมีการติดตามและประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนในกิจการร่วมค้าและบริษัทร่วมทั้งหมดอย่างไร และได้รับผลตอบแทนตามแผนการลงทุนทีคาดไว้หรือไม่ กรณีผลตอบแทนไม่เป็นไปตามคาดหมาย บริษัทมีการพิจารณาดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท

บริษัทติดตามผลการดำเนินงานและประเมินผลตอบแทนของกิจการร่วมค้าและบริษัทร่วมทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดโดยให้ฝ่ายจัดการของทุกบริษัทรายงานผลการดำเนินงานทุกๆไตรมาส ซึ่งบริษัทมิได้นิ่งนอนใจและมอบหมายให้ฝ่ายจัดการของกิจการร่วมค้าและบริษัทร่วมปรับแผนธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงมองหาโอกาสในการมีพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเสริมสร้างให้กิจการร่วมค้าและบริษัทร่วมมีความแข็งแรงมากขึ้นและนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป

ส่วนคดีพิพาทที่มีนัยสำคัญ เป็นคดีที่บริษัทได้ทำสัญญาซื้อสินค้าจากคู่สัญญาคือ JOYSTONE ASIA LIMITED และ UNIMET TRADING LIMITED แต่บริษัทยังไม่ได้โอนเงินมัดจำ และยังไม่ได้เปิด Letter of Credit (L/C) ซึ่งคู่สัญญาไม่มีเอกสาร หรือหลักฐานที่แสดงได้ว่าส่งสินค้ามาให้บริษัท มูลค่าสินค้าที่จะซื้อจะขาย 10,160,000เหรียญสหรัฐ ซึ่งมีเงื่อนไขชำระมัดจำ 10% ภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565

บริษัทว่าจ้างและแต่งตั้งทนายความของสำนักงานกฎหมายประเทศสิงคโปร์เข้าเป็นทนายความเพื่อเข้าดำเนินการต่อสู้คดีความแทนบริษัท คดีอยู่ระหว่างการดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลการเพื่อพิจารณาและตัดสินคดี ถ้าหากแพ้คดีดังกล่าว บริษัทต้องชำระค่าเสียหายจำนวน 4,064,000 เหรียญสหรัฐและชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินคดีของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศสิงคโปร์คิดเป็น ประมาณ 2.0% ของส่วนผู้ถือหุ้น (1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 34.3876 บาทอ้างอิงอัตราขายถัวเฉลี่ยจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2566)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ