PEER เดินหน้าลุยทำแผนธุรกิจ"บลน.อีวี คลิก" หลัง ก.ล.ต.ให้ความเห็นชอบแล้ว

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday April 7, 2024 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เพียร์ ฟอร์ ยู (PEER) เปิดเผยว่า บริษัทได้วางเงินมัดจำ(แบบเรียกคืนได้) จำนวน 5 ล้านบาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบันหรือผู้จะขายของ บลน.เพื่อศึกษาแนวทางการทำรายการซื้อขายหุ้นในธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) แห่งนั้นจากผู้ถือหุ้นปัจจุบันในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของหุ้นสามัญทั้งหมด ในราคารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยมีกำหนดระยะเวลาการเข้าศึกษาลงทุนภายใน 9 เดือนนับจากวันลงนามในบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้บริษัท อีวี คลิก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บลน. แห่งนั้น ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อยื่นขออนุมัติต่อ กลต. เพื่อเริ่มประกอบธุรกิจ และจะได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นเป็นขั้นตอนต่อไป

ส่วนความคืบหน้าการขอคืนเงินมัดจำกับบมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) จากที่บริษัทได้เข้าศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ประเทศเวียดนามและวางเงินมัดจำไป 100 ล้านบาทภายหลังขอยกเลิก เนื่องจากภายหลังที่บริษัทได้ทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date หรือ COD) อัตราค่าไฟฟ้า และโครงสร้างทางการเงินของโครงการที่ยังไม่ได้ข้อสรุป

บริษัทจึงขอให้ผู้ขายชำระคืนเงินมัดจำพร้อมเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสถานะกิจการที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนดในบันทึกความเข้าใจ เมื่อ13 พฤศจิกายน 2566 EP ได้ทำการคืนเงินมัดจำ จำนวน 20 ล้านบาท ให้แก่บริษัท และได้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอผ่อนการคืนเงินมัดจำส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ ฝ่ายจัดการได้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติข้อเสนอดังกล่าว และสามารถตกลงเงื่อนไขเป็นที่น่าพอใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้ลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัทตกลงให้ขยายเวลาการชำระคืนเงินมัดจำส่วนที่เหลือจ นวน 80 ล้านบาท โดยแบ่งชำระเป็นรายงวด รวม 6 งวด

โดยงวดที่ 1 เมื่อ 29 มีนาคม 2567 12,500,000 บาท ชำระเรียบร้อยแล้ว งวดที่ 2-6 กำหนดชำระงวดละ 12,500,000 บาท ในวันที่ 30เมษายน 2567, 31 พฤษภาคม 2567, 28 มิถุนายน 2567,31 กรกฎาคม 2567 และ 30 สิงหาคม 2567

EP ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของยอดเงินมัดจำที่คงค้างพร้อมค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบกิจการจำนวน 550,000 บาท นอกจากนี้ EP ได้ชำระเงินค่าปรับกรณีคืนเงินมัดจำล่าช้าบางส่วนให้แก่บริษัท จำนวน 1 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567

สำหร้บเงินประกันเพื่อศึกษาการทำการตลาดแพลตฟอร์มนั้น จากที่บริษัท อินโน ฮับ จำกัด (อินโนฮับ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ได้เข้าลงนามในสัญญาเข้าศึกษาการร่วมลงทุนกับ บริษัท อีนิกเซอร์ จำกัด (Enixer) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ซึ่งกำหนดระยะเวลาในการ เข้าศึกษาลงทุน ไม่เกิน 6 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและทำการตลาด Platform และได้มีการวางเงินค้ำประกันจำนวน 10 ล้านบาท ให้แก่ Enixer ทั้งนี้สัญญาเข้าศึกษาการร่วมลงทุน ได้สิ้นสุดในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 โดย Enixer ได้ขอผ่อนผันการคืนเงินค้ำประกันให้แก่บริษัทพร้อมทั้งชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่บริษัท โดยแบ่งชำระเป็น 4 งวด ได้แก่ งวดที่ 1เมื่อ 20 มีนาคม 2567 ชำระ 2,000,000 บาท ชำระเรียบร้อยแล้ว งวด 2 ชำระ 2,000,000 บาท ในวันที่ 20เมษายน 2567 งวดที่ 3 ชำระ 3,000,000 บาท ในว้นที่ 20 พฤษภาคม 2567 และ งวดที่ 4 ชำระ 3,000,000 บาท ในว้นที่ 20 มิถุนายน 2567

นอกจากนี้มีการบันทึกผลขาดทุนด้านเครดิตจากการขายหุ้นสามัญของ บริษัท ฟิจิตอล สเปซ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่ผู้ซื้อยังไม่ชำระจำนวน 120 ล้านบาท จากที่บริษัท อินโน ฮับ จำกัด (INH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการ ได้มีการจำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดในบริษัท ฟิ จิตอล สเปซ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PSD) ให้แก่บุคคลภายนอกสองราย ส่งผลให้กลุ่มกิจการสูญเสียอำนาจการควบคุมใน PSD ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดย INH และผู้ซื้อได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญของ PSD ที่มีกำหนดการแบ่งชำระค่าหุ้นทั้งหมด 4 งวด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 150 ล้านบาท แต่ได้รับำระแค่งวดที่ 1 จำนวน 30 ล้านบาท หลังจากนั้นขอผ่อนผัน แต่ก็ยังผิดนัดชำระหนี้ ผู้บริหารจึงพิจารณาบันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระดังกล่าวทั้งจำนวน 120 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันกับผู้ซื้อทั้งสองราย เพื่อลดผลกระทบต่อกลุ่มกิจการให้ได้มากที่สุด

และในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ผู้ซื้อทั้งสองราย ได้ทำหนังสือมายัง INH เพื่อขอยกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญของ PSD โดยการโอนหุ้นส่วนที่เหลือคืนให้แก่ INH โดยคิดตามสัดส่วนจำนวนเงินคงเหลือที่ผู้ซื้อได้ค้างชำระค่าหุ้น อย่างไรก็ตามบริษัทได้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายเพื่อหาแนวทางในการดำเนินการต่อไป

ส่วนการขยายระยะเวลาการคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 100 ล้านบาท ให้แก่บมจ.วาว แฟคเตอร์ (WOW) โดยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 บริษัทและ WOW ได้ลงนามในสัญญากู้ยืมเงินฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

  • กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2567 จนถึงวันที่ชำระเงินกู้คืนครบทั้งจำนวน
  • กำหนดให้นำหลักประกันในการกู้ยืมเป็นหุ้นสามัญของบริษัทย่อยทางอ้อมของ WOW พร้อมทั้งจดแจ้งการจำนำหุ้นดังกล่าวให้แก่บริษัทเพิ่มเติมจากเดิม
  • กำหนดการคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย ส่วนที่ WOW ยังไม่ได้ชำระให้แก่บริษัท ภายใน 7 วัน หลังจากที่ WOW ได้เพิ่มทุนโดยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด ตามมติของคณะกรรมการบริษัทของ WOW ครั้งที่1/2567 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ของ WOW ในวันที่ 30 เมษายน 2567 หรือ ไม่เกินวันที่ 25 มิถุนายน 2567 (แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน) หรือวันทำการอื่นใดตามที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะได้ตกลงและลงนามร่วมกัน

นอกจากนี้บริษัทมีการบันทึกกำไรจากการขายหุ้นสามัญของบมจ. ฮินซิซึ (ประเทศไทย) (HST) จำนวน 2.7 ล้านบาท จากที่บริษัทได้จำหน่ายเงินลงทุนในหุ้นสามัญของ HST ให้แก่บมจ.ไซแมท เทคโนโลยี (SIMAT)จำนวน 6,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นร้อยละ 3.00 ของหุ้นทั้งหมดใน HST โดยมีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 52.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกันกับราคาที่บริษัทเคยซื้อหุ้น HSTจาก SIMAT เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 บริษัทได้มีการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าเงินลงทุนใน HST ดังนั้นการขายหุ้นสามัญของ HST ในสัดส่วนร้อยละ 3 ซึ่งเกิดขึ้นในไตรมาส 1 ปี 2566 ในราคาทุน บริษัทจึงต้องมีการกลับรายการค่าเผื่อการด้อยค่าที่ตั้งไว้จำนวน 2.7 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 2566 การพิจารณามูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน HST ด้วยวิธีประมาณการกระแสเงินสด และพิจารณาอัตราการคิดลด ซึ่งพบว่ามูลค่ายุติธรรม ณ ปัจจุบัน ต่ำกว่าราคาซื้อ จึงได้มีการบันทึกรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรม จำนวน 56 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ