สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยรายงานการได้มาหุ้นของ บมจ.ไฮโดรเท็ค (HYDRO) โดยนางสาวณุวภา วิทูรชวลิตวงษ์ ซึ่งเป็นการได้มาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 จำนวนหลักทรัพย์ที่ได้มา คิดเป็น 4.4635% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มา คิดเป็น 8.0033% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
นางพิมพ์ลดา พิพัฒน์ปากรณ์ ได้มาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 จำนวนหลักทรัพย์ที่ได้มา คิดเป็น 4.8923% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มา คิดเป็น 7.3737% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ และได้มาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 จำนวนหลักทรัพย์คิดเป็น 3.5232% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มาคิดเป็น 10.897% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
ขณะที่นางสาว ภริษา ฉายาวสันต์ แจ้งการจำหน่ายหุ้น HYDRO เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 จำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่าย คิดเป็น 7.9868% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่าย คิดเป็น 8.2255% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
พร้อมกันนั้น HYDRO ได้จัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลกับนักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) ต่อเหตุการณ์ที่หลักทรัพย์ของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย "CB" เนื่องจากบริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้ว สำหรับงบการเงินไตรมาสที่ 3/67 รายงานสรุปแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
แนวทางการเพิ่มรายได้
1. เพิ่มรายได้ และกำไรสุทธิของบริษัทโดยการเสนองานต่อกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น งานออกแบบและงานก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจากรัฐวิสาหกิจและเอกชน การจำหน่ายสินค้าในการบำบัดน้ำเสีย และการให้บริการในการบำบัดน้ำเสียตามกฎหมายการปล่อยน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
2. หาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
3. เพิ่มช่องทางธุรกิจที่สอดคล้องกับธุรกิจเดิม เพื่อขยายโอกาสทางธุกิจไปยังกลุ่มธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อย ทางบริษัทฯ ประกอบธุรกิจในด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งยังมุ่งเน้นไปยังการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียเพื่อลดปัญหามลพิษทางน้ำ ทำให้บริษัทสามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่มาขยายการให้บริการกับกลุ่มลูกค้าเดิมและกลุ่มใหม่ได้มากยิ่งขึ้น
4. เพิ่มช่องทางธุรกิจจากข้อกำหนดด้านกฎหมาย ทำให้เกิดโอกาสในการเพิ่มฐานลูกค้าซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ รวมถึงการออกแบบและวางระบบการบำบัดน้ำเสีย
แนวทางการควบคุมค่าใช้จ่าย
1. บริษัทมีแผนในการบริหารต้นทุนวัสดุและอุปกรณ์ในสำนักงาน เช่น การนำระบบ paperless มาปรับใช้ การใช้อุปกรณ์สำนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังนำระบบ IT มาปรับใช้ในองค์กรเพื่อกระชับขั้นตอนในการทำงาน
2. การเร่งรัดงานให้แล้วเสร็จเร็วขึ้น ทำการเร่งรัดงานให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นเพื่อลดต้นทุนการก่อสร้างและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากหน้างาน
3. บริษัทมีแผนการลดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับขนาดองค์กร เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทโดยบริษัทมีแผนในการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของสำนักงานและหน้างาน 10%
4. ด้านอัตรากำลังคน บริษัทบริหารจัดการให้เหมาะสมสอดคล้องกับขนาดขององค์กร โดยเพิ่มอัตรากำลังเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อีกทั้งบริษัทได้ลดขนาดพื้นที่ของสำนักงานลง เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดขององค์กร และเพื่อการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด