KWI ชี้แจงปมคปภ.มีคำสั่ง"เคดับบลิวไอประกันชีวิต"แก้ไขฐานะเงินกองทุน-หยุดรับรายใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday December 8, 2024 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เคดับบลิวไอ (KWI) เผยกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและผลกระทบต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีคำสั่งนายทะเบียนที่36 /2567ให้บริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือของบริษัทฯ ดำเนินการแก้ไขฐานะเงินกองทุนและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนด เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ดังนี้

1) บริษัทย่อยในเครือ ได้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกันตามสัญญาค่าบริการ (Shared Services Agreement) ซึ่งมีการระบุเงื่อนไขการจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนได้รับบริการ อันอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 33 (7) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ประกอบกับไม่สามารถแสดงที่มาของการจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวและหลักฐานการบริการได้ บริษัทฯ ชี้แจง Shared Service เป็นแนวคิดการรวมศูนย์งานซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการธุรกิจที่มีรูปแบบกลุ่มบริษัทและกลุ่มบริษัทประกันในระดับโลก โดยนำงานที่มีความคล้ายคลึงกันมารวมศูนย์กลางและสร้างงานให้มีมาตรฐานเดียวกันและให้บริการงานนั้นๆแก่บริษัทต่างๆ ในเครือ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างความคุ้มค่าให้เหมาะสม (Economic of scale)

โดยบริษัทฯ ได้นำแนวคิด Shared Service นี้มาใช้กับงานที่เป็น Back Office และ งาน Support ต่างๆ อาทิ งานฝ่ายทรัพยากรบุคคล งานฝ่ายบัญชีและการเงิน งานฝ่ายการสื่อสาร งานฝ่ายไอที งานฝ่ายกฎหมายและเลขานุการบริษัท เป็นต้น ซึ่งทำให้การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทและบริษัทย่อยในเครือ ได้แก่ ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และ หลักทรัพย์จัดการกองทุน สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง ตรงความต้องการของธุรกิจ สามารถรองรับการขยายตัวและการปรับเปลี่ยนแนวทางธุรกิจได้อย่างฉับไว รวมถึงลดต้นทุนในการดำเนินการซึ่งสามารถวัดผลได้

โดยบริษัทฯ ได้ทำการศึกษาอย่างถี่ถ้วนถึงรูปแบบ เนื้องาน บุคลากร ทรัพยากร รวมถึงอัตราในการเรียกเก็บค่าบริการที่สอดคล้องกับระดับมาตรฐานสากลและเป็นราคายุติธรรมและสมเหตุสมผลตามราคาตลาด ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เริ่มนำบริการ Shared Service มาใช้กับบริษัทย่อยในเครือตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นมา โดยได้มีการเรียกเก็บค่าบริการเป็นรายเดือนที่เป็นราคายุติธรรมและสมเหตุสมผลตามราคาตลาด กล่าวคือ ครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2567โดยเป็นการเรียกเก็บการให้บริการย้อนหลังเป็นจำนวน 6 เดือน คือ เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2567 ครั้งที่สอง ได้มีการเรียกเก็บค่าบริการสำหรับเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม 2567

ทั้งนี้บริษัทฯ ขอเรียนว่า การทำธุรกรรม Shared Service ดังกล่าวเป็นไปตามราคายุติธรรมและสมเหตุสมผลตามราคาตลาด บริษัทฯ ได้ปรับปรุงเงื่อนไขสัญญาการให้บริการและเรียกเก็บค่าบริการใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567โดยกำหนดให้บริษัทย่อยในเครือมีหน้าที่จ่ายเงินค่าบริการเมื่อได้รับบริการอย่างถูกต้องทุกประการเรียบร้อยแล้ว

2) บริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการลงทุนให้กู้ยืมเงินกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้กู้ยืมมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้นอกจากนี้ไม่สามารถแสดงหลักฐานการติดตามการใช้เงินตามวัตถุประสงค์การกู้ยืมบางราย รวมถึงไม่มีการรายงานความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมด้านสินเชื่อและผลการตรวจสอบการทำธุรกรรมด้านสินเชื่อต่อคณะกรรมการบริษัท จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามกรอบนโยบายการลงทุนและระเบียบวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัท ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 12 (3) (ก) ข้อ 12 (3) (ข) และข้อ 24 ของประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิตพ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

บริษัทฯชี้แจงว่า ในระหว่างปี 2564 ? ปี 2565 บริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการให้กู้ยืมเงินกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน จำนวน 1 ราย และในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ก็ได้ให้กู้ยืมเงินกับบริษัทผู้กู้อีก 2 ราย โดยในขณะทำการกู้ยืมเงินนั้น บริษัทผู้กู้ทั้ง 2 รายไม่มีความเกี่ยวข้องกันกับบริษัทย่อยในเครือของบริษัทฯ แต่ประการใด อย่างไรก็ดีภายหลังการทำสัญญากู้ยืมเงิน บริษัทผู้กู้ทั้ง 2 รายดังกล่าวได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทฯจำนวนร้อยละ 3.22 และร้อยละ 3.29 ตามลำดับ

ทั้งนี้บริษัทฯ ระบุว่าการให้กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นไปตามราคายุติธรรมและสมเหตุสมผลตามราคาตลาด และภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยได้รับคำปรึกษาและข้อเสนอแนะอย่างรอบด้านจากบริษัทที่ปรึกษาด้านกฏหมาย เพื่อแน่ใจว่าบริษัทสามารถดำเนินธุรกรรมการให้กู้ยืมเงินนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งได้ทำ Credit Review Report เพื่อประเมินความสามารถในการชำระเงินของบริษัทผู้กู้ยืมเงิน อย่างไรก็ดี ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ อยู่ที่ 519.25 ล้านบาทซึ่งบริษัทผู้กู้ยืมเงินได้ทำการชำระเงินกู้และดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่ระบุในสัญญาอย่างถูกต้อง

3) บริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้มีการนำเงินไปวางมัดจำเพื่อจะซื้ออสังหาริมทรัพย์กับบริษัทที่เกี่ยวโยงกันซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการบริษัทตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2552 โดยมิได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทและมิได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน อันอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 33 (9) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ซึ่งกำหนดว่า บริษัทจะกระทำการซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้เว้นแต่เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจหรือสำหรับใช้เพื่อสวัสดิการของพนักงาน เพื่อใช้สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นได้มาจากการชำระหนี้หรือมาจากการบังคับจำนอง โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน และมาตรา33 (16)ซึ่งกำหนดว่าห้ามมิให้บริษัทกระทำการซื้อทรัพย์สินจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการบริษัทตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทและได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน

บริษัท ชี้แจงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัทย่อยในเครือ ได้ดำเนินการชำระมัดจำเพื่อจะซื้ออสังหาริมทรัพย์สำหรับ การลงทุนระยะยาวของบริษัท ซึ่งเงินมัดจำที่ชำระไปนั้น เป็นเงินมัดจำที่บริษัทสามารถเรียกคืนได้เนื่องจากการชำระเงินมัดจำดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการลงนามบันทึกข้อตกลงเท่านั้น โดยยังมิได้มีการลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินแต่อย่างใด ทั้งนี้ธุรกรรมดังกล่าวยังมีเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากสำนักงานคปภ. ซึ่งหากไม่ได้รับอนุมัติทางผู้จะขายก็จะต้องคืนให้แก่บริษัทย่อยในเครือให้เป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ดี เมื่อบริษัทย่อยในเครือไม่ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน คปภ. บริษัทย่อยในเครือจึงได้ยุติการทำธุรกรรมและได้รับคืนเงินมัดจำทั้งหมด เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567

4) บริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการเบิกเงินสดล่วงหน้า โดยไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานที่สามารถระบุรายละเอียดวันที่ผู้รับเงินได้รับเงิน รวมทั้งชื่อและข้อมูลการแสดงตนของผู้รับเงิน อันอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนข้อ 14 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการรับเงิน การจ่ายเงิน การตรวจสอบ และการควบคุมภายในของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2557

บริษัทชี้แจง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารบริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้มอบหมายให้ฝ่ายการเงินและฝ่ายทรัพยากรบุคคลดำเนินการเบิกเงินสด จำนวน 100,000 บาท เพื่อนำมาแจกให้พนักงานเป็นอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีน ปี 2567 โดยได้มีการแจกให้กับพนักงานบริษัทเคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ทั้งหมด ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารบริษัทในเครือกำลังดำเนินการรวบรวมนำส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมและเคลียร์ค่าใช้จ่ายดังกล่าว อย่างไรก็ดี บริษัทจะรายงานเพื่อทราบอีกครั้ง ภายหลังจากที่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการรวบรวมนำส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมและเคลียร์ค่าใช้จ่ายเรียบร้อยแล้ว

อนึ่ง สำหรับคำสั่งนายทะเบียนที่39/2567 ที่ออกโดย คปภ. นั้น คปภ. ได้แจ้งต่อบริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ให้หยุดการรับประกันภัยรายใหม่หรือการขยายวงเงินการรับประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่จนกว่าจะดำรงเงินกองทุนได้ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ตามข้อมูลฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปีพ.ศ.2567 นั้น กลุ่มบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจประกันชีวิต อยู่ที่ร้อยละ 29 ธุรกิจประกันภัย อยู่ที่ร้อยละ 26และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 45

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่อธุรกิจประกัน และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ตลอดจนให้ความสำคัญในการควบคุมติดตามมาตรการสำหรับอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน และประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันและประชาชนทั่วไป บริษัทฯ ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ