PTT เก็งราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 68 ในช่วง 71-81 เหรียญฯ ค่าการกลั่นเฉลี่ย 3.8-4.8 เหรียญฯ ปิโตรฯยังทรง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 21, 2025 10:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท. [PTT] ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 68 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยูโรโซน รวมทั้งจากการเร่งลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ท่ามกลางการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัวชะลอลง จากมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นและปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อซึ่งจะฉุดรั้งความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะยังคงมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจีน นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังเผชิญกับความเสี่ยง

จากความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนซึ่งอาจส่งผลต่อการค้าโลก ตลอดจนปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้ IMF ณ เดือนมกราคม 2568 คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2568 ที่ระดับร้อยละ 3.3

ตามรายงานของ S&P Global ณ เดือนมกราคม 2568 ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.3 MMBD ไปอยู่ที่ระดับ 106.1 MMBD ตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว อย่างไรก็ตาม อุปทานของผู้ผลิตกลุ่ม Non-OPEC มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบในปี 2568 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 71-81 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่3.8-4.8 เหรียญสหรัฐต่อาร์เรล

ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในปี 2568 สายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกับปี 2567 ตามราคาน้ำมันดิบและแนฟทาที่คาดว่าจะปรับลดลง อีกทั้งกำลังการผลิตที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นจากจีนและอุปทานส่วนเกินจากสหรัฐฯ และเอเชียเหนือที่เข้ามาเพิ่มในตลาด จะยังคงกดดันราคาให้ไม่ปรับสูงขึ้นได้มากนัก

ราคากลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ในปี 2568 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปี2567 โดยคาดว่าราคา HDPE และ PP จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 928-1,028 เหรียญสหรัฐต่อตัน และ 964-1,064 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ โดยคาดว่าราคาที่ทรงตัวมาจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตใหม่ของโรงงาน Shandong Yulong และ Long Son ในจีนและเวียดนาม ซึ่งคาดการณ์ว่าจะกลับมาเริ่มเดินเครื่องได้ในช่วงปี 2568 อีกทั้งยังมีผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีของสหรัฐฯ จนส่งผลให้มีอุปทานส่วนเกินในตลาด อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากประเทศเศรษฐกิจหลักที่ผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องและเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ จะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อและมีส่วนช่วยพยุงราคาของโอเลฟินส์ในปี 2568

ราคากลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในปี 2568 มีแนวโน้มลดลงจากปี 2567 โดยคาดว่าราคา BZ และ PX จะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 830-950 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามการคาดการณ์ต้นทุนน้ำมันดิบและแนฟทาที่ปรับลดลงเล็กน้อย รวมถึงแรงกดดันจากอุปทานที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูง และความต้องการสินค้าปลายน้ำที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำท่ามกลางความกังวลต่อปัญหาสงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ราคาโพรเพน (Propane) ในปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปี 2567 โดยคาดว่าราคาโพรเพนจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 520-620 เหรียญสหรัฐต่อตัน สาเหตุหลักมาจากอุปสงค์ในภาคปิโตรเคมีที่ยังคงมีแนวโน้มซบเซา ประกอบกับความต้องการจากอินเดียที่มีแนวโน้มลดลง หลังจากในช่วงปลายปี 2567 ที่ผู้ซื้อได้ทำสัญญาซื้อ LPG (โพรเพนและบิวเทน) ล่วงหน้าสำหรับใช้ในปี 2568 กว่า 1 ใน 3 ของการนำเข้าทั้งปี

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวลดลง ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันราคาโพรเพนในปี 2568 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการโพรเพนที่เพิ่มขึ้นในบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาสภาพอากาศหนาวฉับพลัน (cold snap) ในช่วงต้นไตรมาสที่ 1 ปี 2568 และอุปทานโพรเพนจากประเทศในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มตึงตัวในช่วงต้นปี2568

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวจากปี 2567 โดยมีแรงส่งต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์การท่องเที่ยวโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทยอยออกมาในช่วงครึ่งแรกของปี เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ เฟส 2 และ 3

การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกขาขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องเฝ้าติดตามการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปสอดคล้องกับความคืบหน้าของโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน แต่แนวโน้มการฟื้นตัวอาจถูกจำกัดจากภาคการผลิตที่ยังคงอ่อนแอ และมีความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจอาจชะลอการลงทุนใหม่เพื่อรอดูความชัดเจนของนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลัก

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีปัจจัยเสี่ยงภายนอกจาก นโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่สงครามการค้ารอบใหม่ อัตราเงินเฟ้อที่อาจปรับตัวสูงขึ้นและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงขึ้น โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ณ เดือนมกราคม 2568 คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ที่ระดับร้อยละ 3.0


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ