PTTCH เผยปี 52 กำไรหด 42% ตามส่วนต่างราคาขายผลิตภัณฑ์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 22, 2010 09:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท.เคมีคอล(PTTCH) เชี้แจงผลการดำเนินงานเปรียบเทียบปี 2552 และปี 2551 ว่า บริษัทฯ กำไรลด 42% มีรายได้จากการขายเท่ากับ 83,952 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 โดยมีสาเหตุหลักจากการรับรู้รายได้ของ Emery ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 15,546 ล้านบาท จาก 20,258 ล้านบาทในปี 51 หรือลดลง 23%

อย่างไรก็ดี รายได้จากการดำเนินการของบริษัทฯ ปรับตัวลดลง โดยรายได้จากการขาย Olefins ของบริษัทฯ ลดลง 6,616 ล้านบาท หรือร้อยละ 22 เนื่องจาก ในปี 2552 ราคา Ethylene (SEA) ปรับตัวลดลง ร้อยละ 24 เป็น 864 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และราคา Propylene (SEA) ปรับตัวลดลงร้อยละ 30 เป็น 883 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในขณะที่ปริมาณขาย Ethylene ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เป็น 1,043,479 ตัน และ Propylene ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26 เป็น 400,063 ตัน

รายได้จากการขายเม็ดพลาสติก HDPE ปรับตัวลดลง 3,713 ล้านบาท หรือ คิดเป็น ร้อยละ 16 จากราคาเม็ดพลาสติก HDPE (SEA) ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 23 เป็น 1,134 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในขณะที่ปริมาณขาย HDPEปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เป็น 529,022 ตัน

รายได้จากการขาย ผลิตภัณฑ์ EO และ MEG ปรับตัวลดลง 1,254 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 13 จากราคา MEG (SEA) ที่ปรับตัวลดลง ร้อยละ 43 เป็น 685 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในขณะที่ปริมาณขาย MEG ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เป็น 396,652 ตัน จากการขยายกำลังการผลิต MEG ในไตรมาส 4/2551

ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นเป็น 56,456 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 9,739 ล้านบาท และ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นเป็น 4,475 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11, 3, และ 44 ตามลำดับ โดยมีสาเหตุหลักจากการ Consolidate งบการเงิน ของ Emery ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 และ TFA ที่เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนกันยายน 2551

ค่าเสื่อมราคาและรายการตัดบัญชี 4,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16 โดยมีสาเหตุหลักจากค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นจากการ Consolidate งบการเงินของ Emery ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ค่าใช้จ่ายทางการเงินสุทธิ จำนวน 2,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 151 มีสาเหตุหลักมาจากการเบิกเงินกู้ยืมระยะยาวเพิ่มขึ้นจำนวน 10,000 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2551

ประกอบกับการออกหุ้นกู้จำนวน 12,000 ล้านบาท และ 3,000 ล้านบาท ในเดือนธันวาคม 2551 และ มิถุนายน 2552 ตามลำดับ เพื่อใช้ในการลงทุนตามแผนงาน

บริษัทฯ มีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจำนวน 648 ล้านบาท ในขณะที่มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 910 ล้านบาทในปี 2551 โดยมีสาเหตุหลักจากการแข็งค่าของเงินบาท จาก 35.08 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 เป็น 33.52 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ส่งผลให้ เงินกู้ระยะยาวจำนวน 442 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเมื่อคำนวณเป็นสกุลเงินบาท

ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน จำนวน 144 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 261 จากส่วนแบ่งกำไรของบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

สำหรับปริมาณการขายผลิตภัณฑ์ปี 2552 เปรียบเทียบกับปี 2551 สรุปได้ดังนี้ ปริมาณขายโอเลฟินส์ 1,443,541 ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,171,013 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น, ปริมาณขาย HDPE (โรงโอเลฟินส์ I1 + BPE) เท่ากับ 529,022 ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 492,232 ตัน หรือ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7 ตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น

และ ปริมาณขายผลิตภัณฑ์ MEG ของ TOCGC เท่ากับ 396,652 ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 306,875 ตัน หรือ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29 ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ปริมาณการผลิตปี 2552 เปรียบเทียบกับปี 2551 สรุปได้ดังนี้ ปริมาณผลิตโอเลฟินส์ 1,715,588 ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,437,432 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากการขยายกำลังการผลิต (De-bottlenecking) โรงโอเลฟินส์ I4-2 ในช่วงไตรมาส 4/2551 โดยอัตราการใช้กำลัง

การผลิตโอเลฟินส์ คิดเป็น ร้อยละ 92 ในปี 2552 เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 84 ในปี 2551 และอัตราการผลิตโอเลฟินส์ต่อวัตถุดิบคิดเป็นร้อยละ 67 คงที่เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551, ปริมาณผลิต HDPE (โรงโอเลฟินส์ I1 + BPE) เท่ากับ 527,967 ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 492,722 ตัน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7 เนื่องจาก บริษัทฯ มีการปิดโรงงาน HDPE ของ โรงเอฟินส์ I1 และ BPE ในปี 2551 นานกว่าการปิดโรงงานทั้ง 2 ในปี 2552

ปริมาณผลิต MEG ของ TOCGC เท่ากับ 396,722 ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 310,121 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากการขยายกำลังการผลิต (Expansion) ในไตรมาส 4/2551 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต MEG คิดเป็นร้อยละ 100 ในปี 2552 ลดลงจากร้อยละ 103 ในปี 2551 และ ปริมาณการผลิต ME ของ TOL เท่ากับ 127,807 ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 109,592 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต ME คิดเป็นร้อยละ 64 ในปี 2552 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 55 ในปี 2551


แท็ก เคมี   ปตท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ