TRUE เร่งรีไฟแนนซ์หนี้เร่งเพิ่มสภาพคล่อง,Q1/53 พลิกมีกำไรจากทรุมูฟฟื้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 17, 2010 13:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะให้ความสำคัญกับการรีไฟแนนซ์ภาระหนี้ โดยเชื่อว่าสภาพคล่องของตลาดเงินในประเทศจะเอื้อประโยชน์ต่อการทำรีไฟแนนซ์ของธุรกิจทรูวิชั่นส์และทรูมูฟ ซึ่งจะส่งผลให้ความน่าเชื่อถือทางการเงินของกลุ่มทรูปรับตัวดีขึ้น

ในขณะเดียวกัน หากสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไปอาจทำให้การเพิ่มรายได้มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ บริษัทจะยังคงมุ่งมั่นควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรมากขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มทรูยังคงมุ่งมั่นลดภาระหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยหนี้สินระยะยาวโดยรวมลดลงเป็น 6.7 หมื่นล้านบาท จากจำนวน 6.75 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนั้น อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ปรับตัวลดลงเป็น 3.1 เท่า จาก 3.7 เท่า ในไตรมาสเดียวกัน ปีก่อนหน้า

ในไตรมาส 1/53 กลุ่มทรูมีรายได้จากค่าบริการโดยรวม (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.2 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า เป็น 13.3 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเติบโตของทรูมูฟและ ทรูออนไลน์

นอกจากนี้ กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA โดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 จากไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 5.0 พันล้านบาท ในขณะที่อัตราการทำกำไร ณ ระดับ EBITDA (EBITDA margin) ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 31.6 เป็นร้อยละ 35.1 โดยอัตราการทำกำไรของทุกธุรกิจในกลุ่มปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ กำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติของกลุ่มทรูเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเป็น 411 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีเงินได้รอตัดบัญชี) ซึ่งส่วนใหญ่เนื่องจากค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง

และกำไรสุทธิจำนวนทั้งสิ้น 1.2 พันล้านบาท เปรียบเทียบกับขาดทุนสุทธิจำนวน 131 ล้านบาทในไตรมาส 1/52 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

"ในไตรมาสนี้ ทรูมูฟและทรูออนไลน์มีผลการดำเนินงานเติบโตตามเป้าหมาย ในขณะที่ทรูวิชั่นส์มีผลการดำเนินงานอ่อนตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ และการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย ตลอดจนการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น" นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร TRUE กล่าว

สำหรับการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นการขยายโครงข่ายของทรูมูฟ การจำหน่ายสมาร์ทโฟนและการพัฒนาบริการที่ไม่ใช่เสียง รวมทั้งการขยายพื้นที่และขีดความสามารถในการให้บริการบรอดแบนด์ในเขตรอบนอกของกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ๆ ควบคู่กับการปรับแพ็กเกจที่ผสมผสานผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ในกลุ่มทรู เพื่อเพิ่มยอดผู้ใช้บริการแพ็กเกจพรีเมี่ยมของทรูวิชั่นส์ รวมทั้งส่ง

โดยทรูมูฟ ในไตรมาสนี้ มีผลประกอบการดีต่อเนื่อง โดยรายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมรายได้จาก IC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า เป็น 6.2 พันล้านบาท เนื่องจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของบริการโทรศัพท์ข้ามแดนระหว่างประเทศ และบริการที่ไม่ใช่เสียงซึ่งเติบโตอย่างแข็งแกร่งในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็น 2.0 พันล้านบาท โดยมีรายรับ IC สุทธิเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รายได้จากการบริการแบบรายเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 จากไตรมาส 1 ปี 2552 โดยจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 เนื่องจากแพ็กเกจคอนเวอร์เจนซ์และการจำหน่ายสมาร์ทโฟน

นอกจากนี้ บริการที่ไม่ใช่เสียงมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 จากไตรมาส 1/52 จากบริการโมบาย อินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง ในขณะที่การเปิดตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่โมโตโรล่า ไมล์สโตน บนระบบปฏิบัติการ(แพล็ตฟอร์ม)แอนดรอยด์ ทำให้ทรูมูฟเป็นผู้ให้บริการรายเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการครบทั้ง 3 ระบบปฏิบัติการหลักของสมาร์ทโฟน ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนให้บริการที่ไม่ใช่เสียงเติบโตมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ไตรมาส 1/53 ทรูมูฟ มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นประมาณ 375,000 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 16.2 ล้านราย

ทรูออนไลน์ มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 2.2 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็น 6.7 พันล้านบาท โดยรายได้จากบริการบรอดแบนด์ และรายได้จากธุรกิจใหม่ๆ สามารถชดเชยรายได้ที่ลดลงจากบริการด้านเสียง นอกจากนี้ โปรโมชั่นใหม่ของบริการบรอดแบนด์ภายใต้ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ ที่เปิดตัวในไตรมาสแรก ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มยอดผู้ใช้บริการรายใหม่ได้มากกว่า 27,000 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ทั้งหมดประมาณ 718,000 ราย ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบหลายไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่รายได้จากบริการบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากไตรมาสเดียวกันปีที่ผ่านมา เป็น 1.5 พันล้านบาท

นอกจากนั้น บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ (IDD) ยังประสบความสำเร็จในการเพิ่มปริมาณการใช้ในกลุ่มลูกค้าทรูมูฟและลูกค้าโทรศัพท์พื้นฐานของทรู ในขณะเดียวกันการนำเสนอโปรโมชั่นใหม่เพื่อกระตุ้นการใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานคาดว่าจะช่วยชะลอการลดลงของรายได้ในอนาคต

ขณะที่ ทรูวิชั่นส์ ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้สมาชิกแพ็กเกจระดับกลางและล่างเปลี่ยนมาใช้แพ็กเกจที่มีราคาสูงกว่า ทำให้อัตรา การเปลี่ยนแพ็กเกจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 39.8 อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ ยอดผู้ใช้บริการโดยรวมลดลงเป็นประมาณ 1.6 ล้านราย ซึ่งเป็นผลจากทรูวิชั่นส์ยังคงให้ความสำคัญต่อการคัดกรองสมาชิกที่มีคุณภาพ รวมทั้งตลาดมีการแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/53 ทรูวิชั่นส์มีรายได้จากการให้บริการลดลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.9 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า เป็น 2.3 พันล้านบาท

เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและการเมืองไม่เอื้ออำนวย ทำให้มีการยกเลิกการจัดงานและกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยสร้างรายได้ อาทิ การจัดคอนเสิร์ต และการยกเลิกบริการของกลุ่มผู้ใช้บริการแพ็กเกจพรีเมี่ยม อย่างไรก็ตาม รายได้จากการรับทำการโฆษณาบนช่องรายการต่างๆ ของทรูวิชั่นส์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสนี้ ทรูวิชั่นส์บันทึกรายได้จากการรับทำการโฆษณาเต็มไตรมาสเป็นครั้งแรก จำนวน 87 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ