KSL เผย Q2/53 กำไรลดลงจากขาดทุนทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า-ผลิตน้ำตาลน้อยลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 15, 2010 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ชี้แจงผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย ไตรมาส 2/53 งวดเดือน ก.พ.-เม.ย.53 บริษัทมีผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 101.40 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ 283.28 ล้านบาท บริษัทมีผลกำไรสุทธิลดลง 181.88 ล้านบาท

สาเหตุหลักมาจากนโยบายบริษัทและบริษัทย่อย ในการเข้าทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาล โดยบริษัทได้มีการทำสัญญากำหนดราคาน้ำตาลล่วงหน้าไว้ อิงกับราคาที่ใช้สำหรับคำนวณค่าอ้อยซึ่งเป็นต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญที่บริษัทต้องจ่าย (ราคาของ อนท) ราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าดังกล่าว บริษัทได้ทำสัญญาล่วงหน้าไว้สำหรับน้ำตาลส่งออก (โควตา ค) ทั้งปี โดยบริษัทจะทำการปิดสัญญาในช่วงเวลาใกล้เคียงกับบริษัทได้ทำสัญญาขายน้ำตาลจริงให้กับลูกค้า

ในปี 53 บริษัทได้ทำการปิดสัญญาทั้งหมดในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ซึ่งในขณะนั้นราคาน้ำตาลตลาดโลกอยู่ที่ระดับสูง จึงทำให้เกิดขาดทุนจากการเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขึ้น อย่างไรก็ตามการขาดทุนดังกล่าวได้รับการชดเชยส่วนหนึ่งโดยบริษัทได้ราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น ตามสัญญาขายน้ำตาลจริงให้กับลูกค้า

แต่ด้วยวิธีการบันทึกบัญชี ที่จะต้องบันทึกผลขาดทุน ณเวลาที่ปิดสัญญาทันที แต่การบันทึกรายได้จากการขายน้ำตาลที่ราคาสูงขึ้น จะรับรู้เมื่อมีการส่งออกน้ำตาลจริง ซึ่งบริษัทจะทยอยส่งออกน้ำตาลทั้งปี จึงทำให้เกิดการรับรู้รายได้จากราคาน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นและการบันทึกผลขาดทุนไม่ตรงงวดกัน ส่งผลให้ในไตรมาส 2 บริษัทรับรู้ผลขาดทุนทั้งสิ้น 645.50 ล้านบาท จากธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด สำหรับน้ำตาลส่งออกของบริษัททั้งปี ซึ่งผลขาดทุนดังกล่าวจะถูกชดเชยส่วนหนึ่งภายหลังจากการที่บริษัทบันทึกรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น เมื่อบริษัทได้ส่งออกน้ำตาลในไตรมาส 3/53 ไตรมาส 4/53 และบางส่วนข้ามงวดไปไตรมาส 1/54

ณ สิ้นไตรมาส 2/53 บริษัทได้บันทึกผลขาดทุนจากธุรกรรมเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย ปัจจุบันบริษัทไม่มีสถานะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของปีนี้คงค้างอยู่

นอกจากนี้ ผลกำไรที่ลดลงอีกส่วนหนึ่งจะเกิดจากการที่บริษัทและบริษัทย่อยมีปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ลดน้อยลง สืบเนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลง และคุณภาพอ้อยที่เข้าหีบที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตของบริษัทลดลง และ ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ