บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) เปิดเผยว่า บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ขายเงินลงทุนในโครงการเรือขุดเจาะ KM-1 ที่เมอร์เมดฯ ถือหุ้นร้อยละ 57.14 โดยบริษัท เมอร์เมด ดริลลิ่งค์ (สิงคโปร์) พีทีอี แอลทีดี (MDS) เป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดยเมอร์เมดร้อยละ 100 ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายเงินลงทุนทั้งหมดของ MDS ลงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ในสามบริษัท ได้แก่ เมอร์เมด เคนชาน่า ริก 1 พีทีอี แอลทีดี (MKR-1) เมอร์เมด เคนชาน่า ริก (ลาบวน) พีทีอี แอลทีดี (MKRL) และเคนชาน่า เมอร์เมด ดริลลิ่งค์ เอสดีเอ็น บีเอชดี (KMD) รวมเรียกว่า "กลุ่มบริษัทเป้าหมาย"
ทั้งนี้ ผลของการขายเงินลงทุนทั้งหมดของ MDS ในกลุ่มบริษัทเป้าหมายนี้ทำให้เป็นการขายเงินลงทุนในโครงการเรือขุดเจาะ KM-1 ด้วย
บริษัท เคนชาน่า ปิโตรเลียม เวนเจอร์ส เอสดีเอ็น บีเอชดี (KPV) เป็นผู้ซื้อเงินลงทุนกลุ่มเป้าหมาย และจำนวนเงินรวมที่ MDS คาดว่าจะได้รับจากรายการขายครั้งนี้ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 66,600,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วย เงินที่ขายหุ้นของกลุ่มบริษัทเป้าหมาย และเงินที่ KPV จะจ่ายชำระหนี้แทนกลุ่มบริษัทเป้าหมายให้กับ MDS
ผลตอบแทนจากการจำหน่ายเงินลงทุนในกลุ่มบริษัทเป้าหมาย คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 43,650,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา นอกจากเงินนี้แล้ว KPV ยังได้ตกลงที่จะจ่ายเงินจำนวน 22,950,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ให้กับ MDS เพื่อชำระหนี้ที่กลุ่มบริษัทเป้าหมายยังคงค้างชำระ MDS และบริษัทย่อยอื่นๆของเมอร์เมด
จำนวนเงินที่ขาดทุนจากการขายเงินลงทุนในโครงการเรือขุดเจาะ KM-1 ของเมอร์เมดนี้เป็นเงิน 7,350,000 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา เงินที่ได้รับจากการขายการลงทุนในกลุ่มบริษัทเป้าหมาย และเงินที่จะได้รับจากการชำระหนี้โดย KPV แทนกลุ่มบริษัทเป้าหมายนั้น เมอร์เมดจะนำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจอื่นๆ ต่อไปหากมีโอกาส
KPV เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย และเป็นบริษัทย่อยของ เคนชาน่า ปิโตรเลียม เบอร์แฮด (KPB) โดยเข้าถือหุ้น (holding company) เพื่อการลงทุนในธุรกิจเรือขุดเจาะและบริการที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่ง KPV เป็นเจ้าของร่วมกับ เคนชาน่า เอชแอล เอสดีเอ็น บีเอชดี (KHL) ซึ่งเป็นผู้สร้างเรือขุดเจาะ KM-1 เนื่องจาก KHL มีบริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดย KPB ร้อยละ 100
ทั้งนี้ เหตุผลในการขายเงินลงทุนดังกล่าว เนื่องจากเมอร์เมดได้ทบทวนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อที่จะพัฒนาผลกำไรโดยรวมและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นในระยะที่ยาวมากขึ้น โครงการเรือขุดเจาะ KM-1 ที่ล่าช้าได้ถูกนำมาพิจารณา โดยได้มีการพิจารณาถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากว่าโครงการนี้ยังคงดำเนินการต่อไปภายใต้ข้อตกลงในปัจจุบัน เช่น เงื่อนไขต่างๆในสัญญา การขยายสัญญาว่าจ้างของปิโตรนาส ต้นทุนที่วิ่งสูงขึ้น และอื่นๆ และได้มีการเปรียบเทียบลู่ทางในแก้ปัญหาอื่นๆ แนวทางในการปฏิบัติที่ดีที่สุดในการที่จะบรรเทาความเสียหายให้ลดลง คือ การเจรจากับผู้ถือหุ้นร่วม (co-shareholders) (KPV) อย่างเป็นมิตร เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด
เงินที่ได้จากการขายเงินลงทุนโดย MDS รวมไปถึงการชำระคืนหนี้ระหว่างกันที่เป็นหนี้ต่อ MDS และบริษัทย่อยอื่นๆ ของเมอร์เมด คาดว่าจะเสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และหลังจากนั้นเมอร์เมดจะนำเงินที่ได้นี้ไปใช้ในในการทำธุรกิจอื่นๆ ต่อไปหากมีโอกาส