บมจ.โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) (PTL)เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการขยายกำลังการผลิตของบริษัทย่อยในประเทศตุรกี เพื่อเพิ่มสายการผลิตแผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง ขนาดกว้าง 8.7 เมตร โดยมีกำลังการผลิต 31,000 ตันต่อปี การผลิตเม็ดพลาสติกแบบ Batch โดยมีกำลังการผลิต 21,600 ตันต่อปี และสายการผลิต แผ่นฟิล์มเคลือบอลูมิเ นียมที่ทำงานด้วยความเร็วสูง ขนาดกว้าง 2.85 เมตร กำลังการผลิต 8,600 ตันต่อปี การดำเนินงานขยายกำลังการผลิตคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 15 - 18 เดือนนับจากวันที่ได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคาร
ประเภทผลิตภัณฑ์ของสายการผลิตแผ่นฟิล์ม PET ใหม่ จะมีความหนา 8-125 ไมครอน ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มได้หลายประเภท เช่น แผ่นฟิล์มเคลือบ, แผ่นฟิล์มเคลือบอัดรูป , การใช้สำหรับงานประทับตราหรือพิมพ์ตราแบบร้อน, แผ่นฟิล์มที่ปิดด้วยความร้อน, แผ่นฟิล์มพิมพ์ตรานูนและแผ่นฟิล์มแบบใส เป็นต้น ซึ่งมูลค่าการลงทุนทั้งหมดของโครงการคาดว่าประมาณ 79 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่า 2,551 ล้านบาท
ประกอบด้วยเงินลงทุนในโครงการ (เช่น ค่าปรับปรุงที่ดินที่ตั้งโครงการ , ค่างานโยธาก่อสร้าง , ค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์, ภาระผูกพัน, ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เป็นต้น) จำนวน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 2,260 ล้านบาท) และเงินทุนทุนหมุนเวียน จำนวน 9 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 291 ล้านบาท)
จากการดำเนินโครงการของ PE ในประเทศตุรกี บริษัทจะได้รับประโยชน์หลายด้านด้วยกันดังนี้ คือ ผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศต่างๆในยุโรปต่างก็มีการผันตัวเองจากการผลิตเพื่อป้อนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ธรรมดาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนสำหรับตลาดระดับบนมากขึ้น เช่น อุปกรณ์เกี่ยวกับการใช้แสง (Optical Industry) เซลล์แสงอาทิตย์ (Photovoltaic - PV Industry)เป็นต้น ทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมีทางเลือกน้อยลง
แม้ความต้องการแผ่นฟิล์มในยุโรปจะเพิ่มขึ้นโดยเพิ่มในอัตราที่ต่ำกว่าในเอเชีย ผู้ผลิตแผ่นฟิล์มในประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปก็ไม่มีการเพิ่มกำลังการผลิตมาตั้งแต่ปี 2540 ตลาดยุโรปและอเมริกามักไม่อ่อนไหวในเรื่องราคามากเท่าตลาดเอเชีย ดังนั้น บริษัทสามารถสร้างกำไรจากส่วนต่างราคาได้ดีกว่าตลาดเอเชีย
จากแผนการขยายกำลังการผลิตจะทำให้บริษัทย่อยในตุรกีสามารถสู่ความเป็นผู้นำในตลาดยุโรปได้ โครงการดังกล่าวยังจะช่วยให้โรงงานในตุรกีมีโครงสร้างต้นทุนโดยรวมดีขึ้น จากการประหยัดต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งในแง่ของโครงการเองและในแง่การดำเนินงานภายใต้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในประเทศไทย บริษัทได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีและหลังจากนั้นได้รับการลดภาษีร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี แต่ในประเทศตุรกี บริษัทได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมดจนกว่าตุรกีจะเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปซึ่ง คาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายปี
บริษัทโดยรวม (ไทย+ตุรกี)จะสามารถเพิ่มสัดส่วนส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มอย่างแผ่นฟิล์มเคลือบอลูมิเนียม แผ่นฟิล์มเคลือบอัดชั้นด้วยความร้อน แผ่นฟิล์มเคลือบซิลิโคนและแผ่นฟิล์มเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอื่นๆ โดยในประเทศไทยจะมีความต้องการแผ่นฟิล์มเรียบมากขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตภายในกลุ่ม หลังจากที่สายเคลือบซิลิโคนเริ่มดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปีบัญชี 2554-55 จะทำให้ PE ซึ่งมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นสามารถสนองความต้องการของลูกค้ารายใหญ่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ ส่วน PTL ก็จะมีกำลังการผลิตเหลือพอที่จะหันมาสนองความต้องการในเอเชียตลอดจนความต้องการภายในกลุ่มเองทำให้เกิดการผสานจุดแข็งของกันและกันและการประหยัดสินค้าคงคลังตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาด้วย