บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2/53 มีกำไรสุทธิ เท่ากับ 4,879 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/52 แต่ลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/53 โดยกำไรปกติจากการดำเนินงานเท่ากับ 5,229 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/52 แต่ลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/53 การเพิ่มขึ้นของกำไรจากการดำเนินงานมาจากรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายคงที่
ทั้งนี้ รายได้จากการให้บริการไม่รวม IC มีจำนวน 19,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาส 2/52 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/53 จากปัจจัยทางฤดูกาล
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะท้อนได้จากรายได้จากบริการเสียงซึ่งเติบโต 2.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/52 ในขณะที่บริการข้อมูลยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ความไม่สงบทางการเมืองช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ส่งผลกระทบเพียงรายได้จากต่างประเทศ โดยรายได้บริการข้ามแดนอัตโนมัติลดลง 26.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/53 แต่ยังคงเพิ่มขึ้น 13.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/52 ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในช่วงปัญหาเศรษฐกิจที่ผ่านมา
EBITDA ในไตรมาส 2/53 อยู่ที่ 12,639 ล้านบาท เติบโต 12% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/52 จากรายได้ที่เติบโตขึ้นและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง ในขณะที่ EBITDA margin เพิ่มมาอยู่ที่ 47.7% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/53 จากปัจจัยฤดูกาลที่ทำให้รายได้ลดลงประกอบกับค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงขึ้น
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Cash OPEX : Network OPEX + SG&A excl. A&D) ยังคงลดลงจากการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และด้วยสภาวะการแข่งขันที่ไม่รุนแรงนัก ผนวกกับ EBITDA ที่สูงขึ้นและเงินลงทุนที่ลดลง ทำให้กระแสเงินสด (EBITDA-CAPEX) เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งมาอยู่ที่ระดับ 23,300 ล้านบาท
สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 53 รายได้จากการให้บริการไม่รวม IC เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/52 ส่วนรายได้บริการข้อมูลยังคงเป็นบริการที่สร้างรายได้ที่สำคัญโดยเพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/52 โดยมาจากความนิยมของสังคมออนไลน์ บริการคอนเทนต์เนื้อหาที่มีความหลากหลายมากขึ้น และสมาร์ทโฟนที่มีประสิทธภาพสูง อย่างแบล็คเบอร์รี่และอุปกรณ์แอร์การ์ด ผู้สมัครใช้บริการแบล็คเบอร์รี่ เพิ่มขึ้นเป็น 185,000 ราย ในขณะที่ ผู้สมัครใช้บริการอินเตอร์เน็ตซิมเพิ่มขึ้นเป็น 630,000 ราย การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของบริการอินเตอร์เน็ตซิม โดยรายได้จากบริการข้อมูลคิดเป็น 17% ของรายได้จากการให้บริการไม่รวม IC จากเดิมเพียง 13.5% ในไตรมาส 2/52
รายได้บริการข้อมูลที่ไม่รวมบริการข้อความ (ไม่รวม SMS & บริการเสียงรอรับสาย) มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในรายได้บริการข้อมูล โดยเทียบเท่ากับ 11.2% ของรายได้จากการให้บริการไม่รวม IC
จำนวนผู้ใช้บริการก้าวเข้าสู่ระดับ 30 ล้านรายในไตรมาส 2/53 จากการเพิ่มขึ้นของลูกค้าพรี เพดจำนวน 478,000 ราย และลูกค้าโพสต์เพดจำนวน 20,000 ราย ซึ่งจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าในไตรมาส 1/53 แต่ยังสูงกว่าไตรมาส 2/52 โดยจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตซิมซึ่งเริ่มเติบโตได้ดีในตลาดจังหวัด
รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย(ARPU) ของกลุ่มลูกค้าพรีเพดอยู่ที่ 190 บาทในไตรมาส 2/53 ลดลง 3.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/52 จากการเพิ่มขึ้นทั้งลูกค้าที่ใช้จ่ายน้อยและผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตซิม รวมทั้งลดลง 4.0% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/53 จากปัจจัยฤดูกาล รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายของกลุ่มลูกค้าโพสต์เพดอยู่ที่ 613 บาทในไตรมาส 2/2553 เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/52 แต่ลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับ ไตรมาส 1/53
ส่วนกระแสเงินสด (EBITDA-CAPEX) ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 53 อยู่ที่ระดับ 23,300 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 37.2% เมื่อเทียบกับรอบ 6 เดือนแรกของปี 52 ซึ่งกระแสเงินสดอยู่ที่ระดับ 16,900 ล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นนี้มาจากเงินลงทุนที่ลดลงและรายได้จากการดำเนินที่ปรับตัวดีขึ้น เงินลงทุนลดลง 61.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วจากระดับ 5,900 ล้านบาทในรอบ 6 เดือนของปี 52 เหลือเพียง 2,300 ล้านบาทในรอบ 6 เดือนของปี 53