ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดลบ 61 เซนต์ หลังสต็อกน้ำมันดิบพุ่ง-ดอลล์แข็งค่า

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 28, 2010 07:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (27 ต.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยว่าสต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่แล้วพุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าความต้องการพลังงานยังคงซบเซาอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลที่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจมีวงเงินน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.ร่วงลง 61 เซนต์ ปิดที่ 81.94 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 80.82 - 80.82 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนพ.ย.ลดลง 1.17 เซนต์ ปิดที่ 2.2383 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 0.80 เซนต์ ปิดที่ 2.1020 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 43 เซนต์ ปิดที่ 83.23 ดอลลาร์/บาร์เรล

ตลาดน้ำมันนิวยอร์กถูกกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังจากหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่เฟดมีแนวโน้มว่าจะประกาศใช้นั้น อาจมีวงเงินน้อยกว่าหรือล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 22 ต.ค. พุ่งขึ้น 5.01 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 366.2 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.4 ล้านบาร์เรล หลังจากสหรัฐนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 863,000 บาร์เรล/วัน แตะระดับ 9.43 ล้านบาร์เรล/วัน

ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 4.39 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 214.9 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นลดลง 1.61 ล้านบาร์เรล แตะที่ 168.4 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่คาดว่าจะลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 0.2% น้อยกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2%

ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันนิวยอร์กซบเซามากขึ้นเมื่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือนก.ย. มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.2% เพราะได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของยอดสั่งซื้อเครื่องจักร เครื่องบินและชิ้นส่วนเครื่องบิน แต่หากไม่นับรวมยอดสั่งซื้อในหมวดการขนส่ง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ย.ลดลง 8.8% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตของสหรัฐยังคงชะลอตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ