สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (9 พ.ย.) เพราะถูกกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น และจากการที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจะส่งผลให้ความต้องการพลังงานของสหรัฐหดตัวลงด้วย
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 34 เซนต์ หรือ 0.39% ปิดที่ 86.72 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 86.38 - 87.63 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนธ.ค.เพิ่มขึ้น 0.9 เซนต์ ปิดที่ 2.4067 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนธ.ค.เพิ่มขึ้น 0.65 เซนต์ ปิดที่ 2.1850 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 13 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 88.33 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 88.00 - 89.02 ดอลลาร์
นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบหลังจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโรและเยน โดยเงินยูโรยังคงอ่อนตัวลงเนื่องจากความกังวลที่ว่าปัญหาหนี้สาธารณะอาจลุกลามในยุโรปอีกครั้ง หลังจากมีรายงานว่ารัฐบาลไอร์แลนด์เตรียมขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากสหภาพยุโรป
สัญญาน้ำมันดิบอ่อนตัวลงหลังจากทะยานึ้นแข็งแกร่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อันเนื่องมาจากการคาดการณ์ที่ว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสอง หรือ QE2 ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ด้วยการอัดฉีดเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์เข้าซื้อพันธบัตร จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงอีก
นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายสัญญาน้ำมันดิบหลังจากนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 5 พ.ย. ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐจะเปิดเผยในวันพุธนั้น จะเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้คาดว่า สต็อกน้ำมันกลั่นจะลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินจะลดลง 1.0 ล้านบาร์เรล และคาดว่าอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันจะเพิ่มขึ้น 0.1%
อย่างไรก็ตาม เทรดเดอร์ส่วนใหญ่คาดว่าสภาพอากาศที่หนาวเย็นในภูมิภาคฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอาจทำให้ความต้องการน้ำมันฮีทติ้งออยล์และก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า ปริมาณการใช้พลังงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 36% แตะที่ 1.67 หมื่นล้านตันภายในปี 2578 ขณะที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) คาดการณ์ว่า ความต้องการพลังงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 40% ภายในปี 2573 หรือในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาที่คาดว่าความต้องการพลังงานจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งประจำเดือนก.ย.พุ่งขึ้น 1.5% แตะระดับ 4.17 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.7% โดยตัวเลขสต็อกสินค้าภาคค้าส่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และตัวเลขดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการประเมินวงจรทางธุรกิจและการขยายตัวของเศรษฐกิจ
นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนก.ย.และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐขั้นต้นเดือนพ.ย.