สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (12 พ.ย.) เนื่องจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าจีนอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งให้นักลงทุนวิตกว่า ความต้องการพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ จะซบเซาลง
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ปิดร่วงลง 2.93 ดอลลาร์ หรือ 3.3% แตะที่ระดับ 84.88 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนไหวในช่วง 84.52 - 87.85 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนธ.ค.ลดลง 6.34 เซนต์ ปิดที่ 2.3632 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 2.58 เซนต์ ปิดที่ 2.2099 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 2.47 ดอลลาร์ ปิดที่ 86.34 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นหรือการคุมเข้มนโยบายการเงินใดๆ ก็ตาม อาจส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และจะส่งผลสืบเนื่องต่อความต้องการน้ำมันและโลหะอุตสาหกรรมในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
โดยวานนี้ ตลาดหุ้นจีนปิดตลาดดิ่งลงถึง 5.16% มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2552 หรือในรอบ 14 เดือน เนื่องจากนักลงทุนเกรงว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 เดือน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ หลังจากที่ธนาคารกลางจีนได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550
กระแสคาดการณ์เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น หลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีน พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 25 เดือน ที่ 4.4% ในเดือนต.ค. ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์กันเป็นวงกว้างว่า CPI ตลอดทั้งปีนี้จะอยู่ที่ราว 3.1% ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายของรัฐบาล
นักลงทุนกล่าวว่า ข่าวดังกล่าวกระตุ้นให้นักลงทุนเทขายทำกำไร หลังจากที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมากกว่า 7% ในเดือนนี้ โดยตลาดอาจกำลังเข้าสู่ช่วงปรับฐาน
นอกจากนี้ ความวิตกกังวลเรื่องหนี้สาธารณะในยุโรป และการปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในปี 2554 ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ก็เป็นปัจจัยกดดันตลาดเช่นกัน
ทั้งนี้ IEA ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันปีนี้อีก 190,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 2.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ปรับลดของปีหน้าลง 20,000 บาร์เรล จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้