สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (17 พ.ย.) เนื่องจากความกังวลที่ว่าปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแห่งนี้ด้วย รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวที่ทางการจีนเริ่มใช้นโยบายควบคุมราคาสินค้าเพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.ดิ่งลง 1.90 ดอลลาร์ หรือ 2.31% ปิดที่ 80.44 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 80.06 - 82.67 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนธ.ค.ลดลง 5.91 เซนต์ ปิดที่ 2.2519 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 0.22 เซนต์ ปิดที่ 2.1579 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนธ.ค.ร่วงลง 1.45 ดอลลาร์ ปิดที่ 83.28 ดอลลาร์/บาร์เรล
ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป โดยเฉพาะในไอร์แลนด์ โดยนักวิเคราะห์กังวลว่า ไอร์แลนด์อาจจะเผชิญปัญหาเหมือนกับกรีซ และวิกฤตหนี้สาธารณะรอบใหม่อาจแผ่ขยายวงกว้าง ซึ่งจะฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆในกลุ่มยูโรโซน เช่นสเปนและโปรตุเกส หดตัวลงด้วย
รัฐมนตรีคลังกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ได้จัดการประชุมที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เพื่อตัดสินใจว่าควรจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ไอร์แลนด์หรือไม่ โดยมีรายงานว่า ไอร์แลนด์กำลังถูกกดดันอย่างหนักจากเจ้าหน้าที่กลุ่มอียูให้ขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากต่างประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้สาธารณะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆในกลุ่มยูโรโซน
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ว่าทางการจีนจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และล่าสุดเมื่อวานนี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศแนวทางการควบคุมราคาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าสถานการณ์ด้านเงินเฟ้อสามารถอยู่ภายใต้การควบคุม และยังสนับสนุนให้หน่วยงานท้องถิ่นให้เงินอุดหนุนแก่ครอบครัวยากจนเป็นการชั่วคราว
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ยุโรปและการใช้มาตรการควบคุมเงินเฟ้อของจีนได้บดบังปัจจัยบวกที่บ่งชี้ว่าดีมานด์พลังงานในสหรัฐแข็งแกร่งขึ้น โดยเมื่อวานนี้สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 12 พ.ย.ร่วงลง 7.29 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 357.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นลดลง 1.11 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 158.79 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะร่วงลง 2.2 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินร่วงลง 2.66 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 207.68 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะขยับลงเพียง 800,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.6% แตะระดับ 84%