สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (8 ธ.ค.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐเปิดเผยว่าสต็อกน้ำมันเบนซินและน้ำมันกลั่นพุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการพลังงานในสหรัฐยังคงอ่อนแอ นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นอีกปัจจัยที่ฉุดสัญญาน้ำมันดิบร่วงลงด้วย
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 41 เซนต์ หรือ 0.46% ปิดที่ 88.28 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 87.33 - 88.99 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 0.95 เซนต์ ปิดที่ 2.4607 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 1.84 เซนต์ ปิดที่ 2.3046 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนม.ค.ร่วงลง 62 เซนต์ ปิดที่ 90.77 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักลงทุนวิตกกังวลว่าความต้องการพลังงานในสหรัฐจะยังคงอ่อนแอ หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานว่า สต็อกน้ำมันกลั่นในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 3 ธ.ค.เพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล แตะที่ 160.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.4 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 3.8 ล้านบาร์เรล แตะที่ 214.0 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 900,000 บาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันดิบร่วงลง 3.8 ล้านบาร์เรล แตะที่ 355.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงเพียง 1.5 ล้านบาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 4.9% แตะที่ 87.5% ซึ่งมากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.3%
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ และปัจจัยลบในต่างประเทศ รวมถึงความกังวลเรื่องวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป และความเป็นไปได้ที่ว่าจีนจะใช้มาตรการคุมเข้มด้านการเงิน รวมถึงการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการน้ำมันทั่วโลก
สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งสหรัฐ (AAA) ร่วมกับไรท์เอ็กเพรส แอนด์ ออยล์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันเบนซินโดยเฉลี่ยที่สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศสหรัฐเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.968 ดอลลาร์/แกลลอนในเดือนธ.ค. ซึ่งมากกว่าเดือนที่แล้วอยู่ประมาณ 11.4 เซนต์ และมากกว่าปีที่แล้ว 33 เซนต์
นักลงทุนยังจับตาดูการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ที่ประเทศเอกวาดอร์ หลังจากมีการคาดการณ์ว่ากลุ่มโอเปคจะคงโควต้าการผลิตน้ำมันไว้ที่ 24.845 ล้านบาร์เรล/วันในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนต.ค. และรายงานงบประมาณเดือนพ.ย.ของรัฐบาลกลางสหรัฐ