สัญญาน้ำมันดิบปิดร่วงลงกว่า 2 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (4 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาเทขายทำกำไรหลังจากสัญญาน้ำมันดิบทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 27 เดือนเมื่อวันจันทร์ นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังสร้างแรงกดดันให้กับสัญญาน้ำมันดิบ แม้ทางการสหรัฐเปิดเผยรายงานยอดสั่งซื้อสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.ร่วงลง 2.17 ดอลลาร์ หรือ 2.37% ปิดที่ 89.38 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 88.36 - 92.07 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนม.ค.ลดลง 4.63 เซนต์ ปิดที่ 2.5065 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 1.33 เซนต์ ปิดที่ 2.4140 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.พ.ร่วงลง 1.31 ดอลลาร์ ปิดที่ 93.53 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างหนักเนื่องจากนักลงทุนเข้ามาเทขายทำกำไร หลังจากสัญญาทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 27 เดือนเมื่อวันจันทร์
เทรดเดอร์กล่าวว่า นักลงทุนรู้สึกวิตกกังวลเมื่อราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายวันที่ผ่านมา จึงพากันเข้ามาเทขายทำกำไร แม้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ของโรงงานอุตสาหกรรมในสหรัฐประจำเดือนพ.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7% แตะระดับ 4.238 แสนล้านดอลลาร์ก็ตาม โดยยอดสั่งซื้อสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ เพราะได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของยอดสั่งซื้อสินค้าที่มีอายุการใช้งานต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐยังคงขยายตัวแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังถูกกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งกระตุ้นให้นักลงทุนเทขายสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ในวงกว้าง รวมถึงสัญญาทองคำ ทองแดง และถั่วเหลือง
ขณะเดียวกัน ตลาดน้ำมันนิวยอร์กได้ปัจจัยลบจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะฉุดอัตราว่างงานให้ร่วงลง พร้อมประกาศเดินหน้าโครงการซื้อพันธบัตรเต็มวงเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐจะเปิดเผยในวันพุธนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบจะลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะเพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรล และคาดว่าอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันอาจลดลง 0.4%