ไทยอาจจะส่งออกข้าวปริมาณ 9 ล้านตันไปขายยังต่างประเทศในปี 2554 ซึ่งจะทำให้ไทยมีรายได้ 5.80 พันล้านดอลลาร์ หรือสูงกว่ามูลค่าการส่งออกในปีที่แล้วราว 10%
ในขณะที่ปริมาณการส่งออกที่ได้คาดการณ์ไว้ในปีนี้ไม่แตกต่างไปจากการประมาณการในปี 2553 นั้น ไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุดของโลกก็คาดว่า ราคาข้าวในตลาดโลกจะสูงขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่บางประเทศคงจะไม่นำข้าวภายในประเทศออกไปขายยังต่างประเทศ
นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาข้าวยังคงเป็นสถานการณ์ด้านอุปสงค์และอุปทาน" นอกจากนี้ นางสาวกอบสุขยังคาดการณ์ว่า จีนและอินเดียจะไม่ส่งออกข้าวไปขายในตลาดโลกในปี 2554 เนื่องจากความต้องการภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้ไทยและเวียดนามเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ระดับโลกเพียง 2 ราย
นอกจากนี้ นางสาวกอบสุขกล่าวว่า ไทยได้ส่งออกข้าวในปี 2553 ทั้งสิ้น 9.03 ล้านตัน ซึ่งทำให้ไทยมีรายได้ 5.31 พันล้านดอลลาร์
ส่วนปัจจัยอื่นๆที่มีผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดโลกได้แก่ราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
"เมื่อใดก็ตามที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ราคาข้าวก็จะปรับตัวขึ้นด้วย" นางสาวกอบสุขกล่าว
เธอยังกล่าวด้วยว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งราคาอาจจะพุ่งขึ้นแตะดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีนี้นั้น จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย และในปัจจุบัน เกษตรกรของไทยกำลังหันไปใช้เครื่องจักรในการปลูกข้าว นอกจากนี้ ราคาปุ๋ยก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอีก
ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นประเด็นที่สร้างความวิตกกังวล
นางสาวกอบสุข ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทส่งออกข่าวรายใหญ่ กล่าวว่า กลุ่มผู้ส่งออกข้าวของไทยมีความวิตกกังวลเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมากกว่าการแข็งค่าของเงินบาท
"หากวันนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นและร่วงลงอย่างหนักในวันพรุ่งนี้ เรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลมากกว่าการที่เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เราคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเรา และนี่จึงเป็นเหตุผลที่เราไม่คิดว่าวอลุ่มการส่งออกจะสูงกว่า 9 ล้านตัน เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น" เธอกล่าว
นางสาวกอบสุขกล่าวว่า เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์ กลุ่มผู้ส่งออกข้าวจะกำหนดราคาขายข้าวสูงขึ้น 12 ดอลลาร์/ตัน ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแตระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์ กลุ่มผู้ส่งออกของไทยก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยปัจจุบัน เงินบาทแกว่งตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 30 บาทต่อดอลลาร์
ขณะเดียวกันนางสาวกอบสุขกล่าวว่า ราคาเฉลี่ยของข้าวไทยในปี 2553 อยู่ที่ระดับ 500 - 530 ดอลลาร์/ตัน และหากราคาพุ่งขึ้นแตะระดับ 600 ดอลลาร์/ตัน กลุ่มผู้ซื้อก็เริ่มที่จะลังเล
อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวหอมมะลิ มีต้นทุนสูงถึง 1,100 ดอลลาร์/ตัน ขณะที่ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และจีน เป็นผู้ซื้อข่าวรายสำคัญ
แต่จากสถิติของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยพบว่า ผู้ซื้อข้าวไทยรายใหญ่สุด คือ ไนจีเรีย ที่ซื้อข้าวนึ่งจากไทย 1.07 ล้านตันในปี 2552 ส่วนในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย. 2553 ไนจีเรียได้ซื้อข้าวนึ่งจากไทยไปแล้ว 1.27 ล้านตัน ทั้งนี้ ข้าวนึ่งเป็นข้าวเกรดต่ำ และไม่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวไทยและเอเชีย
นางสาวกอบสุขกล่าวว่า เวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวคู่แข่งรายสำคัญของไทย จะไม่สามารถแซงหน้าไทยได้ เนื่องจากชาวเวียดนามยังคงบริโภคข้าวส่วนใหญ่ที่สามารถผลิตได้ในประเทศ เมื่อเร็วๆนี้ ไทยได้ส่งออกข้าวได้มากกว่าเวียดนามถึง 2 ล้านตัน
ส่วนในแง่ของปริมาณการผลิต นางสาวกอบสุขกล่าวว่า ไทยติดอันดับ 8 หรือ 9 ในฐานะผู้ผลิตข้าวราวใหญ่ของโลก แต่ปัจจุบันคนไทยเริ่มหันไปบริโภคอาหารชนิดอื่นๆเป็นอาหารหลักนอกเหนือจากข้าว ซึ่งทำให้ไทยมีข้าวจำนวนมากพอต่อการส่งออก
นอกจากนี้ นางสาวกอบสุขกล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศที่สร้างความเสียหายอย่างหนักในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวมากนัก ขณะที่รัฐบาลประมาณการว่าข้าวเปลือกได้รับความเสียหายราว 600,000 ตัน เทีนยเท่ากับปริมาณข้าวที่ขัดสีแล้ว 400,000 ตัน ซึ่งนางสาวกอบสุขกล่าวว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
บทสัมภาษณ์โดย ศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ จากสำนักข่าวซินหัว