AFET ปรับ BWR5 เป็นข้าว FOB เสร็จ Q1/54,แย้ม 2H ได้เห็นน้ำตาลหรือเอทานอล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 13, 2011 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิทัศน์ ภัทรโยธิน ผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย(AFET) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า AFET กำลังพิจารณาปรับปรุงสินค้า 1 ตัว คือข้าวขาว 5% แบบ Both Options เป็น ข้าวขาว FOB ส่วนเงื่อนไขและรายละเอียดยังไม่เปิดเผย แต่คาดว่าจะได้เห็นราวไตรมาสแรกของปีนี้

"ไตรมาสแรกนี้เราคงได้สินค้าใหม่ เรากำลังปรับข้าวขาว 5% BWR5 เป็นข้าว FOB เป็นข้าวส่งออก แทนที่จะส่งมอบในประเทศ ก็เป็นส่งมอบนอกประเทศ รายละเอียดกำลังทำ ใกล้จะเสร็จแล้ว"นายนิทัศน์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ คนในประเทศเป็นทั้งคนซื้อและคนขาย แต่หลังจากเปลี่ยนเป็น FOB คนในประเทศเป็นคนขายและคนนอกประเทศเป็นคนซื้อ เราคิดว่าคนนอกประเทศน่าจะให้ความสนใจข้าวขาว 5% เพราะเราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ และกำหนดราคาตลาดโลกอยู่แล้ว เป้าหมายของเรามีทั้งโรงสี ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าต่างประเทศ ซึ่งเท่าที่ได้คุยผู้นำเข้าต่างประเทศส่วนใหญ่ให้ความสนใจ

นอกจากนี้ กำลังพิจารณาสินค้าใหม่ 1 ตัวที่จะนำเข้ามาซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า AFET ในช่วงครึ่งปีหลังระหว่างน้ำตาลหรือเอทานอล สาเหตุที่เลือกสินค้าทั้ง 2 ตัว เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีอนาคต เพราะประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 3 ของโลก

"เราพยายามจะเลือกสินค้าที่มีโอกาสสำเร็จมากที่สุด ซึ่งน้ำตาลเราเป็นรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีอิทธิพลต่อตลาดโลก และตลาดน้ำตาลค่อนข้างใหญ่ มีคนเทรดคู่ขนานอยู่นอกประเทศแล้ว ขณะที่แถบเอเชียก็มีแต่ตลาดผู้ใช้ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีตลาดนี้ให้เล่น เราสามารถลิงค์กับญี่ปุ่นหรือจีนก็ได้"นายนิทัศน์ กล่าว

สำหรับปาล์มน้ำมัน นายนิทัศน์ กล่าวว่า คงยังต้องใช้เวลาศึกษาอีก เนื่องจากผลผลิตปาล์มของไทยมีปริมาณต่ำกว่าประเทศอื่น หากนำเข้ามาเทรดจะกลายเป็นไปน็อคราคาคนอื่น

ทั้งนี้ หลังปรับปรุงสินค้าและมีสินค้าใหม่ โดยเฉพาะน้ำตาลคาดว่าน่าจะกระตุ้นให้ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยเป็นไปตามเป้าหมายคือ 1,000 สัญญา/วันได้ง่ายขึ้น จากปัจจุบัน 800-1,000 สัญญา/วัน ซึ่งดีกว่าปี 53 ที่วอลุ่มเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 600 สัญญา/วัน

"เรื่องน้ำตาล ปกติคนไทยนำไปเทรดข้างนอกอยู่แล้ว ถ้ามีตลาดเพิ่มขึ้นอีก 1 ตลาด นักลงทุนก็มีโอกาสมากขึ้น เหมือนยางที่เมื่อก่อนมีแค่ 2 ตลาด คือ ญี่ปุ่นกับตลาดสิงคโปร์ พอมีเราคนก็เทรดทั้ง 3 ตลาดเลย"

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราได้มากกว่านั้น คือนักลงทุนมีความเชื่อถือในราคายางของไทยมากและนำไปใช้อ้างอิงค่อนข้างสูง

"ปกติราคาที่ญี่ปุ่นต้องแพงกว่าไทย แต่หลายครั้งราคาที่ไทยแพงกว่าญี่ปุ่น เพราะยางปิดหน้ากรีด หรือช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติ เราเป็นคนนำราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้น นักลงทุนมีความเชื่อถือราคายางในตลาดล่าวงหน้าของไทยค่อนข้างมาก เพราะเราเป็นตลาดผู้ผลิตมันจึงสะท้อนต้นทุนการผลิตออกมาในรูปของราคาอย่างชัดเจน ราคาในโลกก็ปรับตัวตามเรา ซึ่งถือว่ามีศักยภาพสูงที่จะขยายตัวต่อไปข้างหน้าได้"

*รับคาดการณ์ยากแนวโน้มราคายางช่วงผลัดใบ

สำหรับสินค้ายางที่ราคานำ New High เกือบทุกวัน ปัจจัยสนับสนุนเยอะมาก หนึ่งคือ ปริมาณการผลิตน้อยกว่าปริมาณความต้องการใช้ ทั้งโลกการผลิตแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอื่นๆ ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ พอไทยมีปัญหาเรื่องการผลิต สาเหตุสำคัญมาจากสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ

"เมื่อซัพพลายมีปัญหา คนก็มองว่าต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนเป็นช่วงยางผลัดใบ ชาวสวนจะกรีดยางได้น้อยลง คนซื้อก็มองว่าถ้ารอถึงตรงนั้นราคาอาจจะแพงกว่านี้มาก ก็รีบซื้อตั้งแต่ตอนนี้ ทำให้ความต้องการใช้ของโลกในขณะนี้ขยายตัวมาก โดยเฉพาะความต้องการใช้จากจีน หลังปริมาณการผลิตรถยนต์ปี 53 เพิ่มขึ้นกว่า 30% ทำให้ความต้องการใช้ยางมากขึ้นไปตามด้วย จีนและญี่ปุ่นก็เลยเริ่มเก็บสต็อกยางตั้งแต่ตอนนี้"

นายนิทัศน์ กล่าวต่อว่า ช่วงที่ยางกำลังผลัดใบ ราคายางอาจจะเป็นไปได้ทั้งปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะผลผลิตขาดแคลน หรือไม่ก็อาจจะปรับตัวลดลงเพราะผู้ประกอบการอาจจะชะลอการซื้อเพราะเกรงว่าราคาอาจจะแพงมากขึ้นอีก ทำให้คาดการณ์ทิศทางราคายางค่อนข้างยาก

"ผมคาดการณ์ไม่ได้ เพราะเป็นคนกลาง แต่ผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆ ว่ายังไงก็คงเป็นอย่างนั้น"ผู้จัดการตลาด AFET กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย และนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด ต่างคาดการณ์ราคายางปีนี้ไม่น่าต่ำกว่า 100 บาท/กก.

ล่าสุด ราคาปิดวานนี้ที่ 165.00 บาท/กก.และเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาราคาปรับตัวขึ้นไปทดสอบ High ที่ 165.65 บาท/กก.

นายนิทัศน์ กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สินยุโรปและปัญหาเศรษฐกิจจีน ว่า มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคายางแน่นอน เช่นกรณีที่จีนและญี่ปุ่นประกาศจะซื้อบอนด์ของยุโรป ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ค่าเงินเยนอ่อนลงทำให้ราคายางสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ