สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (20 ม.ค.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่แล้วพุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบ อันเนื่องมาจากความกังวลที่ว่าอุปทานพลังงานในสหรัฐยังมีอยู่สูงมากแม้มีการปิดท่อส่งน้ำมันในรัฐอะแลสกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายสัญญาน้ำมันดิบโดยไม่ให้น้ำหนักกับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.ร่วงลง 2 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 88.86 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 88.00 - 90.86 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนก.พ.ลดลง 3.30 เซนต์ ปิดที่ 2.6232 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.พ.ลดลง 5.91 เซนต์ ปิดที่ 2.4225 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมี.ค.ร่วงลง 1.58 ดอลลาร์ ปิดที่ 96.58 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบหลังจากมีข้อมูลระบุว่า อุปทานพลังงานในสหรัฐยังคงมีอยู่มากแม้บริษัทอัลเยสกา ไพพ์ไลน์ ได้ปิดท่อส่งน้ำมันทรานส์ อะแลสกาในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งการปิดท่อส่งในครั้งนั้นทำให้บีพีและเอ็กซอนโมบิล ต้องระงับการผลิตน้ำมันในเขตนอร์ธสโลปของมลรัฐอะแลสกา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถผลิตน้ำมันได้ราว 630,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของผลผลิตน้ำมันโดยรวมในสหรัฐ
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 14 ม.ค. พุ่งขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 335.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลง 300,000 บาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล แตะที่ 165.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และสต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 4.4 ล้านบาร์เรล แตะที่ 227.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 2.5 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 3.4% แตะ 83.0% มากกว่าที่คาดว่าจะลดลงเพียง 0.2%
นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบแม้ทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งก็ตาม รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการระหว่างว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์แล้วซึ่งร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 6 เดือนก.พ. ขณะที่ยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค.พุ่งขึ้น 12.8% แตะระดับ 5.28 หลังต่อปี และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนธ.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1%