ราคาน้ำตาลพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 30 ปีในช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวจุดชนวนความวิตกกังวลที่ว่า ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาดแคลนผลผลิตในฤดูการเก็บเกี่ยวในรัฐควีนสแลนด์
นักลงทุนเข้าส่งคำสั่งซื้อสัญญาน้ำตาล ในขณะที่พายุไซโคลนยาซีได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ปลูกอ้อย แม้ว่ารายงานเบื้องต้นระบุว่า พายุ "เพชรฆาต" ลูกนี้อาจไม่ได้มีอำนาจทำลายล้างอย่างที่หวั่นเกรงกันในตอนแรก
สัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก จากข่าวพายุไซโคลนซึ่งส่งผลให้นักลงทุนแห่เข้าส่งคำสั่งซื้อกันอย่างคึกคัก โดยราคาน้ำตาลหยาบงวดส่งมอบเดือนมี.ค.พุ่งแตะ 36.08 เซนต์สหรัฐต่อปอนด์ที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์นิวยอร์ก ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2523
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ราคาน้ำตาลจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะ แม้ว่าราคาน้ำตาลร่วงลงจากระดับสูงสุดในรอบ 30 ปีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า น้ำตาลเป็นวัตถุดิบส่งออกที่มากที่สุดอันดับ 2 ของออสเตรเลียด้วยมูลค่าราว 2 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (2.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปีภายใต้สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นของรัฐควีนสแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกอ้อยที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก โดย 95% ของผลผลิตอ้อยในออสเตรเลียมีแหล่งกำเนิดที่รัฐควีนสแลนด์ ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยส่วนใหญ่ของผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดอันดับสามของโลก
รายงานก่อนหน้านี้ระบุว่า รัฐควีนสแลนด์อาจสูญเสียพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (507.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ทั้งนี้ ตลาดมีความกังวลว่า พายุไซโคลนยาซี ซึ่งมีความรุนแรงระดับ 5 จะไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ปลูกอ้อยในออสเตรเลียเท่านั้น แต่จะทำลายระบบโครงสร้างพื้นที่ฐานที่สำคัญ เช่น ท่าเรือขนส่งน้ำตาลที่สำคัญ 2 แห่งในพื้นที่ที่เพิ่งได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ใจกลางเมือง รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมการเกษตรสำคัญๆ เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาล