สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (14 ก.พ.) หลังจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะปรับตัวสูงขึ้น แม้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในตะวันออกกลางก็ตาม
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมี.ค.ร่วงลง 77 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 84.81 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 84.58 - 86.52 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 5.46 เซนต์ ปิดที่ 2.7504 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 5.22 เซนต์ ปิดที่ 2.5174 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 2.14 ดอลลาร์ ปิดที่ 103.08 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงหลังจากนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 11 ก.พ.ซึ่งทางสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยในวันพุธนั้น จะพุ่งขึ้น 1 ล้านบาร์เรล และคาดว่าสต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่นคาดว่าจะลดลง 1 ล้านบาร์เรล และคาดว่าอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันจะลดลง 0.3%
นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบเพราะมองว่า แม้จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหลายแห่งในตะวันออกกลาง รวมถึงอียิปต์และเยเมน แต่ก็ไม่ได้ทำให้สต็อกน้ำมันดิบปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในแถบอีสต์โคสต์ของสหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการพลังงานในสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะซบเซา
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางกลุ่มยังเชื่อว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่อการลำเลียงน้ำมันจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) เช่นอิหร่าน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะช่วยหนุนราคาน้ำมันสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ นักลงทุนยังขานรับรายงานที่ระบุว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนในเดือนม.ค.พุ่งขึ้น 43.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 2.9501 แสนล้านดอลลาร์ โดยยอดส่งออกขยายตัว 37.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 1.5073 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดการนำเข้าเพิ่มขึ้น 51% แตะที่ 1.4428 แสนล้านดอลลาร์
สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติของสหรัฐ (NAHB) เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.พ.ทรงตัวที่ระดับ 16 จุด สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 17 จุด
ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ รวมถึงยอดค้าปลีกเดือนม.ค., ตัวเลขสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนธ.ค., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนม.ค., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนม.ค.,ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนม.ค. และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนม.ค.