สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (16 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรหลังจากมีรายงานว่า เกิดเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกกลาง รวมถึงลิเบีย และหลังจากรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลอ้างว่า อิหร่านเตรียมส่งเรือรบ 3 ลำเดินทางผ่านคลองสุเอซเพื่อมุ่งหน้าไปยังซีเรีย
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมี.ค.พุ่งขึ้น 67 เซนต์ ปิดที่ 84.99 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 4.58 เซนต์ ปิดที่ 2.7748 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 5.59 เซนต์ ปิดที่ 2.5447 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมี.ค.พุ่งขึ้น 2.14 ดอลลาร์ ปิดที่ 103.78 ดอลลาร์/บาร์เรล
ตลาดน้ำมันนิวยอร์กได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง โดยมีรายงานว่าประชาชนจำนวนมากในลิเบียได้ออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีขึ้นไม่นานหลังจากชาวอียิปต์หลายแสนคนได้ชุมนุมประท้วงทั่วประเทศเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค จนนำไปสู่การจลาจลที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
นอกจากนี้มีรายงานว่า รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลอ้างว่า อิหร่านเตรียมส่งเรือรบ 3 ลำเดินทางผ่านคลองสุเอซเพื่อมุ่งหน้าไปยังซีเรีย ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าอาจเกิดความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน
มูฮัมหมัด อู รัมมาน นักวิเคราะห์ด้านการเมืองของจอร์แดน กล่าวว่า การลาออกของประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค จะช่วยนำประชาธิปไตยมาสู่อียิปต์ซึ่งเป็นประเทศที่มีพลเมืองมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ และอาจจะทำให้ดุลอำนาจในโลกอาหรับเปลี่ยนแปลงไปด้วย ขณะที่นักวิเคราะห์รายอื่นๆกล่าวว่า การลาออกของมูบารัคซึ่งเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐและมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอิสราเอล อาจทำให้กระบวนการสันติภาพมาถึงทางตัน เนื่องจากอียิปต์อาจต้องวางตัวกับอิสราเอล ในสถานะใหม่
ตลาดน้ำมันนิวยอร์กได้แรงหนุนหลังจาก สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐรายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นุด ณ วันที่ 11 ก.พ.เพิ่มขึ้น 900,000 บาร์เรล แตะที่ 345.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้
ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นลดลง 3.1 ล้านบาร์เรล แตะที่ 161.3 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 200,000 บาร์เรล แตะที่ 241.1 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันร่วงลง 3.5% แตะที่ 81.2%
นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) เดือนม.ค.ของสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่นน้ำมันดิบ ส่งผลให้ราคาสินค้าประเภทอื่นๆในสหรัฐปรับตัวขึ้นด้วย