สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (24 ก.พ.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยว่าสต็อกน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบสัปดาห์ที่แล้ว และหลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) และซาอุดิอาระเบียได้ออกมาแสดงความพร้อมที่จะระบายน้ำมันเข้าสู่ตลาดโลกหากสถานการณ์รุนแรงในลิเบียส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานขาดแคลน อย่างไรก็ตาม IEA เชื่อมั่นว่าเหตุการณ์รุนแรงในลิเบียจะไม่ส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันมากนัก
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ร่วงลง 82 เซนต์ หรือ 0.84% ปิดที่ 97.28 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 103.41 ดอลลาร์
สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนมี.ค.ลดลง 2.34 เซนต์ ปิดที่ 2.8932 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 0.72 เซนต์ ปิดที่ 2.8749 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE ส่งมอบเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 11 เซนต์ ปิดที่ 111.36 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นหลังจาก IEA ระบุว่า เหตุการณ์รุนแรงในลิเบียจะไม่ส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันมากเท่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่วิตกกังวล แม้เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกองกำลังทหารลิเบียและกลุ่มผู้ประท้วงได้ส่งผลให้บริษัทน้ำมันหลายแห่งลดการผลิตลงประมาณ 500,000-750,000 บาร์เรลต่อวันก็ตาม
IEA ยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะระบายน้ำมันเข้าสู่ตลาดหากพบว่าเกิดภาวะอุปทานตึงตัวอย่างรุนแรง และหากพบว่ากลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันไม่พร้อมที่จะจัดหาน้ำมันโดยผ่านทางกลไกตลาดปกติ โดย IEA มีน้ำมันดิบสำรองอยู่ราว 1.6 พันล้านบาร์เรล ซึ่งจะระบายออกสู่ตลาดก็ต่อเมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนอุปทานอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ IEA ยังได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นสมาชิกที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโอเปค ในการรับมือกับภาวะอุปทานตึงตัวหากสถานการณ์ในลิเบียรุนแรงขึ้น โดยซาอุดิอาระเบียยืนยันว่าสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเป็น 12.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงพอที่จะชดเชยภาวะขาดแคลนอุปทานในตลาดโลก
สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ก.พ.เพิ่มขึ้น 800,000 บาร์เรล แตะที่ 346.7 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม สต็อกน้ำมันกลั่นลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล แตะที่ 159.9 ล้านบาร์เรล ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล แตะที่ 238.3 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 400,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันร่วงลง 1.8% แตะที่ 79.4% สวนทางกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4%