สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.) หลังจากมีรายงานว่าพันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียยอมรับข้อเสนอการไกล่เกลี่ยเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองในลิเบียจากนายฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซูเอล่า ซึ่งข่าวดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในลิเบีย
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ลดลง 32 เซนต์ ปิดที่ 101.91 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนเม.ย.ร่วงลง 1.56 ดอลลาร์ ปิดที่ 114.79 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงจากระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี หลังจากสำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า กัดดาฟีได้ยอมรับข้อเสนอการไกล่เกลี่ยเพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองในลิเบีย หลังจากที่กัดดาฟีได้หารือร่วมกับนายฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซูเอล่า ซึ่งเป็นพันธมิตรของกัดดาฟี
ข้อเสนอดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความพยายามของคณะกรรมาธิการจากกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง ที่ต้องการจะผลักดันให้ผู้นำลิเบียและกองกำลังฝ่ายค้านสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ หลังจากที่ฝ่ายค้านได้เข้ายึดครองพื้นที่ขนาดใหญ่ในลิเบีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของแอฟริกาเหนือ
นอกจากนี้ อัลจาซีรารายงานว่า นายนิโคลัส มาดูโร รมว.ต่างประเทศเวเนซูเอล่า ได้หารือเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวร่วมกับนายอามีร์ มูซา ประธานสันนิบาตอาหรับ โดยนายมูซากล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจาณา
ก่อนหน้าที่จะมีข่าวการทำข้อตกลงสันติภาพนั้น ตลาดการเงินและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความวิตกกังวลเรื่องสถานการณ์ในลิเบีย หลังจากกัดดาฟีขู่ว่าจะเปิดฉากทำสงครามนองเลือด หากชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เข้าแทรกแซงกิจการภายในของลิเบีย และหลังจากสมาพันธ์ระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนในกรุงปารีสเปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามผู้ประท้วงของรัฐบาลลิเบียพุ่งแตะ 6,000 รายแล้ว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่า การที่ราคาน้ำมันดิบ NYMEX ปรับตัวลงเป็นเพราะตลาดมีแรงซื้อเข้ามามากเกินไป จึงทำให้นักลงทุนเทขายทำกำไร ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงเนื่องจากปัจจัยทางเทคนิค
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ประมาณการว่า สถานการณ์รุนแรงในลิเบียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 13 ของโลก ได้ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันภายในประเทศลดลง 850,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน