ก.เกษตรฯ ผุดรง.แปรรูปยางพาราที่ศรีสะเกษ รองรับผลผลิตภาคอีสานตอนล่าง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 10, 2011 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานยางแท่ง STR 20 จังหวัดศรีสะเกษว่า เป็นการสร้างโรงงานเป็นแห่งที่สาม โดยจะสามารถรองรับผลผลิตยางพาราในเขตจังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ ยโสธร และอำนาจเจริญ ครอบคลุมพื้นที่ 500,000 ไร่เศษ

อนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ให้กระทรวงเกษตรฯ โดยองค์การสวนยาง ดำเนินงานโครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าตามนโยบายของรัฐบาล โดยการก่อสร้างโรงงานยางแท่ง STR 20 พร้อมติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ ขนาดกำลังผลิต 20,000 ตัน/ปี จำนวน 3 แห่ง ที่จังหวัดนครพนม อุดรธานี และศรีสะเกษ

ทั้งนี้ โรงงานยางแท่ง STR 20 ทั้ง 3 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่เหมาะสม ทั้งด้านความเป็นศูนย์กลางของบริเวณที่ปลูกยางพาราของแต่ละจังหวัดติดต่อกัน รวมทั้งการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมที่สะดวกต่อการนำวัตถุดิบเข้าโรงงาน และนำผลผลิตขายประเทศจีนหรือต่างประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานยางแท่ง STR 20 ที่จังหวัดนครพนมเป็นแห่งแรก สามารถรองรับผลผลิตยางพาราของเกษตรกรในเขตจังหวัดนครพนม มุกดาหาร หนองคาย และสกลนครบางส่วน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 600,000 ไร่ ส่วนแห่งที่สอง ที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อรองรับผลผลิตยางพาราในเขตจังหวัดอุดรธานี เลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และสกลนครบางส่วน ครอบคลุมพื้นที่ 600,000 ไร่ และที่จังหวัดศรีสะเกษ เป็นแห่งที่สาม

ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด ประมาณ 3 ล้านไร่ เป็นสวนยางกรีดยาง 0.69 ล้านไร่ ให้ผลผลิตเกือบ 200,000 ตัน ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ต้นยางพาราตามโครงการหนึ่งล้านไร่จะเริ่มกรีดได้และจะกรีดได้หมดภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยจะมีผลผลิตมากกว่า 500,000 ทั้งนี้ หากราคายางไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรชาวสวนยางใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีสวนยางพารากรีดได้ 10 ไร่ จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 250,000 — 300,000 บาทต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ