นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย คาดการณ์ราคาส่งออกเฉลี่ยปี 54 จะอยู่ที่ 120-170 บาท/กก. สูงกว่าปีที่แล้วที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 106 บาท/กก.เนื่องจากความต้องการยังดีอยู่ ขณะที่ปัจจุบันอุปทานยังน้อย ต้องรอดูหลังจากเดือน มิ.ย.เพราะชาวสวนจะเริ่มกลับมากรีดยางอีกครั้ง หลังจากพักการกรีดยางในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.เพื่อให้ต้นยางได้พักและผลัดใบ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีนี้ราคายางคงจะยังมีความผันผวน แต่คงไม่รุนแรงเหมือนเดือน ก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา
"บางช่วงราคาอาจจะลงต่ำๆ บ้าง และบางช่วงอาจจะขึ้นสูง แล้วแต่จังหวะ"นายหลักชัย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ส่วนกรณีน้ำท่วมภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้พื้นที่สวนยางส่วนหนึ่งเสียหาย คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตหายไปประมาณ 3 หมื่นตัน หรือประมาณเกือบๆ 1% จากผลผลิตทั้งปีที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 3.49 ล้านตัน แต่คาดว่าโครงการยาง 1 ล้านไร่ ที่เริ่มกรีดได้แล้วตั้งแต่ปี 53 ปีนี้คงจะเห็นผลผลิตมากขึ้น น่าจะช่วยเรื่องปริมาณผลผลิตทางภาคใต้ที่ลดลงได้บ้าง
ส่วนล่าสุดการที่ ครม.อนุมัติโครงการปลูกยางระยะที่ 3 เฟสแรกนั้น คงต้องรออีกประมาณ 6 ปีกว่าจะเห็นผล
"ตอนนี้อุปสงค์ยังสม่ำเสมอ ยังปกติทั้งในประเทศและต่างประเทศ การผลิตยางล้อรถยนต์ยังเป็นไปตามปกติ คาดราคาส่งออกเฉลี่ยปีนี้น่าจะสูงกว่าปีที่แล้วที่อยู่ที่ประมาณ 106 บาท/กก. ปีนี้น่าจะได้มากกว่านั้น เพราะรัฐบาลประกันราคาไว้ที่ 120 บาท/กก.ก็น่าจะไม่ต่ำกว่านี้ แต่สูงสุดปีนี้ก็ได้เห็น 190 บาท/กก.ไปแล้วเมื่อตอนต้นปี 54 หลังจากนี้คงจะได้เห็นสูงสุดราวๆ 170 บาท/กก."นายหลักชัย กล่าว
นายหลักชัย กล่าวว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล รัฐบาลชุดนี้จะได้กลับมาหรือจะได้รัฐบาลใหม่ ก็มั่นใจว่าจะต้องดูแลความเป็นอยู่ของเกษตรกรอยู่แล้ว ภาพใหญ่ที่สำคัญ คือ การผลิตกับการใช้น่าจะใกล้เคียงกัน
"ณ วันนี้ยังไม่มีอะไรที่เป็นสัญญาณว่าการใช้จะลดน้อยลง เพียงแต่อาจจะมีบางช่วงบางตอนใช้มากใช้น้อยก็แล้วแต่"นายหลักชัย กล่าว
ขณะที่ปัจจัยที่ยังต้องติดตามในระยะต่อไป คือ เรื่องของหนี้สาธารณะของทางยุโรปที่ยังวุ่นวายอยู่ บวกกับสหรัฐฯมีปัญหาถูกลดอันดับเครดิต นอกจากนี้ที่สำคัญคือ จีนพยายามขึ้นดอกเบี้ยและควบคุมเงินให้เข้มงวดเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ต้องดูว่าปัญหาจะหนักหนาขนาดไหน แต่เชื่อมั่นว่าจีนจะไม่ทำให้เศรษฐกิจเสียหาย หรือยุ่งยากควบคุมไม่ได้
"เพราะถ้ามันตึงเกินไป ไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องปล่อย คลายออกมาบ้าง"นายหลักชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยและการส่งออกยางของไทย คาดว่าเงินบาทอาจจะต้องแข็งค่าขึ้นตามเงินหยวน และเงินร้อนที่มีเข้ามาอยู่เรื่อยๆในตลาดหลักทรัพย์ เป็นตัวเร่งให้เงินบาทแข็งค่า ถึงแม้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะเข้ามาแทรกแซง แต่ก็ทำเพื่อชะลอการแข็งค่า ไม่ได้จะทำให้อ่อนค่าลง
นายหลักชัย กล่าวถึงเงินบาทตอนนี้ที่แข็งค่าจนหลุดระดับ 30 บาท/ดอลลาร์แล้วว่า ยังไม่กระทบการส่งออกยางมากนัก เนื่องจากผู้ส่งออกส่วนใหญ่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกันไว้ แต่หากแข็งค่าไปมากถึงต้น ๆ 29 บาท/ดอลลาร์ ก็อาจจะส่งผลกระทบบ้าง
"เงินบาทในระดับปัจจุบันนี้ยังไม่กระทบการส่งออกยาง เพราะผู้ส่งออกมีการทำ Swap เอาไว้ แต่ถ้าหล่นไปอยู่ 29 ต้นๆ หรือ 28 ก็อาจจะกระทบบ้าง แต่ก็ต้องดูจีนด้วยเพราะถ้าจีนค่าเงินแข็งด้วย จีนก็จะมีกำลังซื้อ จะซื้อยางได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นผู้ซื้อยางอันดับ 1 ของโลกอยู่แล้ว"นายหลักชัย กล่าว