In Focusจับกระแสราคาทองคำ แร่ธาตุล้ำค่าที่ถูกตีตราว่าเป็น safe heaven

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 27, 2011 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปรากฏการณ์ "Gold Rush" หรือกระแสตื่นทอง กลับมาเป็นสปอตไลท์ของตลาดการเงินทั่วโลกอีกครั้ง นับตั้งแต่ราคาทองคำตลาดโลกพุ่งขึ้นทำนิวไฮในการซื้อขายวันแรกของปี 2554 ที่ระดับ 1,422.90 ดอลลาร์/ออนซ์ จากนั้นราคาทองก็ติดปีกทะยานสู่ช่วงขาขึ้นมาโดยตลอด กระทั่งเมื่อราคาพุ่งทะลุแนวต้านที่ 1,450 ดอลลาร์ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา กูรูในตลาดทองคำก็ออกมาพยากรณ์กันยกใหญ่ เห็นทีว่าโลกเราจะได้เห็นราคาโลหะมีค่าและงดงามเป็นอมตะชนิดนี้พุ่งขึ้นแตะแนวต้านเส้นสำคัญที่ 1,500 ดอลลาร์เป็นแน่แท้ ทำนายทายทักกันได้ไม่กี่วัน เราก็ได้เห็นราคาทอง COMEX เหิรฟ้าขึ้นไปทำนิวไฮครั้งใหม่ที่เหนือระดับ 1,500 ดอลลาร์/ออนซ์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะถึงวันหยุด Good Friday ในสหรัฐเพียงวันเดียว

วัฎจักร "upward trend" เช่นนี้ทำให้หลายคนนึกถึง จิม โรเจอร์ส กูรูคอมโมดิตี้ผู้โด่งดังที่ทำนายเอาไว้ตั้งแต่ปลายปี 2552 ว่า ราคาทองมีโอกาสพุ่งขึ้นแตะระดับ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์สูงมาก เนื่องจากสถานการณ์เงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวและสงคราม การพยากรณ์ในครั้งนั้นท่านโรเจอร์สถูกถล่มอย่างหนักจากนักวิจารณ์ฝีปากกล้าทั้งหลาย เพราะต่างก็เกรงว่าจะเป็นการชี้นำนักเก็งกำไร และคนที่ "จัดหนัก" ที่สุดก็คงเป็นศาสตราจารย์ นูเรียล รูบินี นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กที่ใช้การประชุม "Inside Commodities Conference" ที่นิวยอร์กเป็นเวทีสับแหลกโรเจอร์ส จนนำไปสู่วาทะกรรมที่เจ็บแสบว่า "การออกมาคาดการณ์ว่าราคาทองจะพุ่งขึ้นไปแตะ 1,500 ดอลลาร์ หรือ 2,000 ดอลลาร์ ถือการคาดการณ์ที่ไร้สาระมาก" ...เมื่อเห็นราคาทองในเวลานี้แล้ว ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบว่าอาจารย์รูบินีจะกลับไปขอโทษขอโพยท่านโรเจอร์สหรือเปล่า

* วิเคราะห์สาเหตุเบื้องหลังราคาทองทะยานแบบกู่ไม่กลับ

เป็นที่ทราบกันว่า ทองคำเป็น "safe heaven asset" หรือสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากที่สุดในยามที่เศรษฐกิจโลกยังเอาแน่ไม่ได้ นักวิเคราะห์ต่างก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาทองร้อนแรงจนถึงขณะนี้ มาจากปรากฏการณ์ "หนีเงิน ซื้อทอง" นั่นเป็นเพราะค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐอ่อนตัวลงแบบเรื้อรัง และไม่มีทีท่าว่าจะแข็งค่าขึ้นจนถึงขนาดที่จะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นได้ นอกจากนี้ สถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองทั่วโลก วิกฤตเงินเฟ้อ และพิษเศรษฐกิจที่พ่นใส่หลายประเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนแห่ซื้อทองคำเก็บไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่า หากเศรษฐกิจล่มสลายหรือเกิดสงครามขึ้น ทองคำก็จะเป็นทางรอดในยามที่เงินขาดมือ และแล้วก็เกิดสถานการณ์ที่ถือเป็น "สปริงบอร์ด" ที่ส่งราคาทองขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1,500 ดอลลาร์เร็วกว่าที่คาดไว้ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงและคลื่นสึนามิในญี่ปุ่น เหตุการณ์ที่ใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะบรรเทาลงเมื่อใด

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเป็นห่วงว่า การทะยานขึ้นของราคาทองคำกำลังสะท้อนถึงความรู้สึกไม่มั่นคงของนักลงทุนที่มีต่ออนาคตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรปที่กำลังดิ้นหลังชนฝากับปัญหาหนี้สาธารณะ และสหรัฐที่กำลังปวดหัวกับเงินคงคลังที่ร่อยหรอ จนทำให้ S&P ต้องออกโรงเตือนว่าอาจจะหั่นอันดับเครดิตสหรัฐในอีก 2 ปีข้างหน้า หากสถานการณ์การคลังไม่ดีขึ้น และที่ทำให้ตลาดเกิดอาการหวั่นไหวอย่างมากก็คือเสียงเตือนของโรเบิร์ต เซลลิก ประธานธนาคารโลกที่ว่า วิกฤตแบบระเบิดทำลายล้างสูงจะเกิดขึ้นแน่นอน หากเศรษฐกิจโลกมีอันต้องสะดุดแค่อีกครั้งเดียว หลังจากที่สะดุดไปพักใหญ่กับวิกฤตซับไพร์ม และหากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือย่ำแย่ลงกว่านี้ ความฝันที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวคงต้องพังทลาย ซึ่งเซลลิกบอกว่านี่ยังไม่รวมผลพวงของหายนะนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น

ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนแห่ซื้อทองคำ เพราะเมื่อเกิดเงินเฟ้อ สินทรัพย์ประเภทอื่นๆจะอ่อนแอและแปรปรวน แต่ทองคำยังมั่นคงอยู่ได้เพราะเป็น safe heaven asset ที่เป็นใครก็อยากถือครองไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนทุกวันนี้ก็คือการอัดฉีดเงินภาษีของประชาชนเข้าสู่ระบบการเงิน บนพื้นฐานของความพยายามที่จะกู้ซากเศรษฐกิจให้คืนชีพอีกครั้ง โดยเฉพาะมาตรการ QE2 ของสหรัฐที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นต้นตอของปัญหาเงินเฟ้อและการอ่อนยวบของเงินดอลลาร์ ภาวะแปรปรวนในตลาดเงินกระจายตัวออกไปเป็นความผันผวนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ จนกลายเป็นวงจรวิกฤตระลอกใหม่ที่ซึมลึกยาวนานจนยากที่จะหาทางออกที่เหมาะสมได้

* ย้อนรอยเส้นทางราคาทองคำโลก

ในขณะที่ตลาดหุ้นและตลาดการเงินมีขึ้นและลงคละเคล้ากันไปตามแต่ปัจจัยในขณะนั้น แต่ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ราคาทองคำตลาดโลกเคลื่อนไหวในช่วงขาขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ประกาศยกเลิกการตรึงสกุลเงินดอลลาร์กับมาตรฐานทองคำในปีพ.ศ. 2514 ตามข้อตกลงแบรทตัน วูดส์ ..ต่อไปนี้เป็นเส้นทางราคาทองคำตลาดโลกที่จะพาท่านย้อนรอยหาสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการพุ่งขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ของราคาทอง

  • ส.ค. 2514 : หลังจากอดีตประธานาธิบดีนิกสัน ประกาศยกเลิกการตรึงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐกับมาตรฐานทองคำแล้ว ราคาทองคำตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ม.ค. 2523 : ราคาทองพุ่งทำนิวไฮที่ 850 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากสหภาพโซเวียตเข้าแทรกแซงอัฟกานิสถาน และผลกระทบจากการปฏิวัติอิหร่านทำให้นักลงทุนเข้าซื้อทอง ... หลังจากนั้นในปี 2546 ราคาทองพุ่งขึ้นโดยตลอดเนื่องจากสงครามอิรัก
  • 13 มี.ค. 2551 : ราคาทองทะยานขึ้นเหนือ 1,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก
  • 17 ก.ย. 2551 : ราคาทองพุ่งขึ้นเกือบ 90 ดอลลาร์/ออนซ์ภายในวันเดียว ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเกิดภาวะผันผวนในตลาดหุ้นและตลาดการเงิน ทำให้เกิดแรงซื้ออย่างท่วมท้นในตลาดทองคำ
  • 1 ธ.ค. 2552 : ราคาทองพุ่งเหนือ 1,200 ดอลลาร์/ออนซ์เป็นครั้งแรก หลังจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง
  • 3 ธ.ค. 2552 : ทองทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,226.10 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากปัจจัยเดิมคือดอลลาร์อ่อนค่า และกระแสคาดการณ์ธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มการถือครองทองคำ
  • 11 พ.ค. 2553 : ราคาทองพุ่งทำสถิติครั้งใหม่ที่ 1,230 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ในยูโรโซน
  • 16-22 ก.ย. 2553 : ราคาทองขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน โดยแตะจุดสูงสุดที่ 1,296.10 ดอลลาร์ หลังธนาคารกลางสหรัฐประกาศใช้มาตรการ QE2 ซึ่งจุดปะทุให้เกิดความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ
  • 7 ต.ค. 2553 - ราคาพุ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่เหนือ 1,360 ดอลลาร์/ออนซ์ จากกระแสคาดเฟดจะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกนาน ซึ่งข่าวดังกล่าวฉุดค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงอย่างหนัก
  • 7 ธ.ค. 2553 : ทองทะยานขึ้นทำสถิตินิวไฮครั้งใหม่ที่ 1,425 ดอลลาร์/ออนซ์ จากวิกฤติหนี้ยูโรโซน
  • 24 มี.ค. 2554 : ราคาทองพุ่งชนนิวไฮครั้งใหม่ที่ 1,447 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น
  • 25 เม.ย. 2554 : ทองคำทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,517.80 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบในตะวันออกกลาง และการอ่อนค่าของดอลลาร์

* พลิกปูมตลาดทองคำโลก จับตาจีนผงาดเป็นเจ้าตลาดทองคำหน้าใหม่

ในศตวรรษที่ 17 และ 18 ทวีปอเมริกาใต้มีการผลิตทองคำมากที่สุดในโลก จากนั้นในปี 2366 รัสเซียได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตทองคำและคงความเป็นใหญ่ในการผลิตทองคำต่อไปอีก 14 ปี ก่อนที่จะเสียแชมป์ให้กับแอฟริกาใต้ในช่วงปลายทศวรรษที่ 20 แต่ในปัจจุบัน แอฟริกาใต้ได้สูญเสียตำแหน่งผู้ผลิตทองรายใหญ่ที่สุดของโลกให้กับจีนไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้แอฟริกาใต้หล่นมาอยู่อันดับสอง และที่ตามมาเป็นอันดับสามคือสหรัฐ

เดิมทีนั้น ตลาดทองคำที่สำคัญของโลก 5 แห่งด้วยกัน คือ นิวยอร์ก ลอนดอน ซูริก โตเกียว และฮ่องกง แต่สถานการณ์ในช่วงหลังๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อ จีน ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้เข้ามามีบทบาทในตลาดทองคำมากขึ้นเรื่อยๆ จีนมีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับทองคำมาช้านาน หลังจากจีนเริ่มเปิดตัวเองเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจโลก มีหลายเหตุการณ์ที่บ่งชี้ว่า จีนกำลังต้องการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดทองคำ เริ่มจากการคลายกฏในปี 2554 ด้วยการเปิดตลาด Gold Futures ที่เซี่ยงไฮ้ การเพิ่มทุนสำรองทองคำจาก 600 ตันเป็น 1,054 ตัน การแนะนำให้ประชาชนซื้อทองคำสะสม

มาร์ค เพอร์แวน นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ของ ANZ ในออสเตรเลีย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีนเวลานี้คือ ทรัพย์สินจำนวนมากกำลังถูกโยกออกจากตลาดที่ดินไปยังตลาดทองคำ และจะทำให้ราคาทองคำสูงขึ้นอีก ในขณะที่นักวิเคราะห์อีกหลายคนได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า จีนจะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้ทองคำรายใหญ่สุดของโลกแทนอินเดีย

ข้อมูลของสภาทองคำโลกระบุว่า ปัจจุบัน จีนถือครองทองคำมากเป็นอันดับ 6 ของโลก แซงหน้าอินเดียและธนาคารกลางยุโรป ส่วนประเทศที่ถือครองทองคำมากที่สุดในโลกยังคงเป็น สหรัฐ รองลงมาคือ เยอรมนี และไอเอ็มเอฟ ส่วนประเทศไทยใครว่าไม่รวยจริง เพราะสภาทองคำโลกยืนยันว่า ประเทศไทยเราถือครองทองคำมากเป็นอันดับ 33 ของโลก แซงหน้าอินโดนีเซียและมาเลเซีย

วลีเก่าแก่ที่ว่า "มีเงินเขาเรียกว่าน้อง มีทองเขาเรียกว่าพี่" ยังคงใช้ได้ดีกับยุคนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าทองคำล้ำค่าอมตะยิ่งกว่าเพชรนิลจินดาชนิดใด และมีมูลค่าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจสูงถึง 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ตามคำทำนายของจิม โรเจอร์ส และที่นักลงทุนในตลาดทองคำโลกให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนครั้งประวัติศาสตร์ของ เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ในคืนวันนี้ตามเวลาประเทศไทย หากหัวเรือใหญ่ของเฟดยืนยันว่าจะปล่อยให้โครงการ QE2 หมดอายุลงในช่วงกลางปีและพร้อมที่จะคลอด QE3 ชนิดไม่แคร์สื่อ ก็จะยิ่งทำให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนยวบลงอีก และถึงเวลานั้น เราอาจจะได้เห็นราคาทองทะยานขึ้นไปสูงกว่าระดับ 2,000 ดอลลาร์ก็เป็นได้ ..


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ