ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบร่วง $9.44 เหตุวิตกศก.อ่อนแอฉุดดีมานด์พลังงาน

ข่าวต่างประเทศ Friday May 6, 2011 06:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (5 พ.ค.) เนื่องจากการพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิว่างงานของสหรัฐทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแออาจทำให้ความต้องการพลังงงานลดน้อยลงด้วย นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังร่วงลงหลังจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 9.44 ดอลลาร์ ปิดที่ 99.80 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนมิ.ย.ดิ่งลง 10.39 ดอลลาร์ ปิดที่ 110.80 ดอลลาร์/บาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบร่วงลงเกือบ 9% และปิดที่ระดับต่ำกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า ภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางและไร้ทิศทางของสหรัฐอาจส่งผลให้ความต้องการพลังงานลดน้อยลงด้วย โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย.พุ่งขึ้น 43,000 ราย แตะระดับ 474,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่กลางเดือนส.ค.ปีที่แล้ว และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 410,000 ราย

นอกเหนือจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกร่วงลงถ้วนหน้า รวมถึงราคาทองคำและโลหะเงิน ทั้งนี้เนื่องจากดอลลาร์ที่แข็งค่าจะทำให้สัญญาสินค้าโภคภัณฑ์มีราคาแพงขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่นๆ

สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งสหรัฐ (AAA) ระบุว่า ความต้องการน้ำมันเบนซินในสหรัฐเริ่มปรับตัวลงในเดือนมี.ค. เนื่องจากผู้ขับขี่ยานยนต์มองว่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในขณะนี้สูงเกินไป และวิตกกังวลเกี่ยวกับการใช้จ่ายในครัวเรือนที่อาจจะสูงขึ้น

นักวิเคราะห์จากบริษัทคาเมรอน ฮาโนเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานในสหรัฐเตือนว่า ราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอาจทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ เนื่องจากการใช้จ่ายผู้บริโภคคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศ

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ประสิทธิภาพการผลิตนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.6% ต่อปีในไตรมาสแรก หลังจากเพิ่มขึ้น 2.9% ในไตรมาสสี่ปีที่แล้ว ส่วนต้นทุนแรงงานต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 1.0% ในไตรมาสแรก หลังจากลดลง 1.0% ในไตรมาสสี่ปีที่แล้ว

นักลงทุนจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (nonfarm payrolls) เดือนเม.ย.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันศุกร์ตามเวลาไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 186,000 ตำแหน่ง น้อยว่าเดือนมี.ค.ที่เพิ่มขึ้น 216,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนเม.ย.จะทรงตัวที่ 8.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ