สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (19 พ.ค.) หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รวมถึงการปรับตัวลงของดัชนีชี้นำเศรษฐกิจและยอดขายบ้านมือสอง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแออาจทำให้ความต้องการพลังงานลดน้อยลงด้วย
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 1.66 ดอลลาร์ ปิดที่ 98.44 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ร่วงลง 76 เซนต์ ปิดที่ 111.54 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบเนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐอาจทำให้ความต้องการพลังงานลดน้อยลงด้วย โดยเมื่อคืนนี้ตามเวลาประเทศไทย กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ค.ร่วงลง 29,000 ราย สู่ระดับ 409,000 ราย แต่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1,250 ราย สู่ระดับ 439,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัญยังคงซบเซา
ขณะที่สมาคมนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) รายงานว่า ยอดขายบ้านมือสองร่วงลง 0.8% มาอยู่ที่ระดับ 5.05 ล้านยูนิตต่อปี สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.20 ล้านยูนิตต่อปี
นอกจากนี้ คอนเฟอเรนซ์ บอร์ดรายงานว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐหดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2553 และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟียรายงานว่า ดัชนีกิจกรรมด้านการผลิตร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นอกเหนือจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอแล้ว ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า สำนักงานพลังงานสากล (IEA) แนะนำให้ 28 ชาติสมาชิกของ IEA ระบายน้ำมันในสต็อกฉุกเฉินออกสู่ตลาด หากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ตรึงเพดานการผลิตไว้เท่าเดิมในการประชุมซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ทั้งนี้ โอเปคได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2554 เป็น 88.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้