สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า ความต้องการพลังงานทั่วโลกจะขยายตัวขึ้น 37% ภายในปี 2578 จากระดับของปี 2551 ขณะเดียวกันคาดว่า ความต้องการก๊าซธรรมชาติจะพุ่งขึ้น 63% ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น
รายงาน "World Energy Outlook 2011" ของ IEA ระบุว่า ภายในปี 2578 นี้ ความต้องการก๊าซธรรมชาติทั่วโลกจะคิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 4 ของความต้องการพลังงานทั่วโลก ซึ่งจะเท่ากับความต้องการน้ำมันดิบ 1.68 หมื่นล้านตัน
นายโนบุโอะ ทานากะ ผู้อำนวยการบริหารของ IEA กล่าวว่า IEA จะทบทวนแนวโน้มความต้องการพลังงานบนสมมติฐานที่ว่า การผลิตพลังงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกจะปรับตัวลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2578
ทั้งนี้ IEA ระบุว่า ในปี 2578 จะเป็น "ยุคทองของก๊าซธรรมชาติ" ซึ่งการประมาณดังกล่าวพิจารณาจากความเป็นไปได้ที่ว่า ธุรกิจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มขยายตัว, ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในจีนจะสูงขึ้นอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาล, อัตราการใช้พลังงานนิวเคลียร์มีคาดว่าจะลดน้อยลง และปริมาณการใช้ก๊าซสำหรับการขนส่งทางบกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
"แน่นอนว่านับจากนี้จะเป็นยุคทองของก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ก๊าซธรรมชาติมีบทบาทอย่างมากในตลาดพลังงานโลก โดยเราให้เหตุผลไว้สองทาง คือเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลในหลายประเทศสนับสนุนให้มีการใช้แหล่งพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ นายทานากะกล่าวว่า
นายทานากะยังกล่าวด้วยว่า ก๊าซธรรมชาติเป็น "เชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดที่สุด ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายของก๊าซเรือนกระจก และลดมลภาวะในท้องถิ่น"
นอกจากนี้ IEA คาดว่า ความต้องการแหล่งพลังงานทุกประเภทจะปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากความต้องการที่สูงขึ้นในจีนและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ สำนักข่าวซินหัวรายงาน