ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดพุ่ง $1.65 หลังโอเปคคงโควต้าการผลิต

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 9, 2011 06:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ตัดสินใจคงโควต้าการผลิตในการประชุมเมื่อวานนี้ สวนทางกับที่นักวิเคราะห์และเทรดเดอร์ในตลาดคาดการณ์ไว้ว่า โอเปคจะเพิ่มโควต้าการผลิต นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้แรงหนุนจากรายงานของการปิโตรเลียมสหรัฐ (API) และสำนักงานสารนิเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) ที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐร่วงลงอย่างมากในรอบสัปดาห์ที่แล้ว

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 1.65 ดอลลาร์ ปิดที่ 100.74 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 1.07 ดอลลาร์ ปิดที่ 117.85 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX พุ่งขึ้นทันทีที่โอเปคตัดสินใจคงโควต้าการผลิตน้ำมันเอาไว้ที่ 24.845 บาร์เรล/วัน ในการประชุมที่กรุงเวียนนาเมื่อวานนี้ หลังจากซาอุดิอาระเบียไม่สามารถโน้มน้าวสมาชิกประเทศอื่นๆของโอเปคให้ปรับเพิ่มโควต้าการผลิตได้ นอกจากนี้ มติของที่ประชุมยังสวนทางกับนักวิเคราะห์และเทรดเดอร์ส่วนใหญ่คาดว่า โอเปคจะปรับเพิ่มโควต้าการผลิตในการประชุมครั้งนี้

นายอับดุลเลาะห์ เอล-บาดรี เลขาธิการโอเปคกล่าวว่า โอเปคได้วางแผนที่จะจัดการประชุมในอีก 3 เดือนข้างหน้า เพื่อทบทวนโควต้าการผลิต หลังจากบรรยากาศการประชุมในครั้งนี้เป็นไปอย่างตึงเครียด เนื่องจากซาอุดิอาระเบียและสมาชิกบางประเทศของโอเปคได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่จะผลักดันให้ที่ประชุมโอเปคปรับเพิ่มโควต้าการผลิตเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน แต่สมาชิกบางประเทศของโอเปคที่มีท่าทีแข็งกร้าวอย่างอิหร่าน เวเนซูเอลา และอัลจีเรีย ได้ปฏิเสธข้อเสนอการปรับเพิ่มโควต้า

นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้แรงหนุนจากรายงานของ EIA ที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 3 มิ.ย.ร่วงลง 4.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยับลงเพียง 600,000 บาร์เรล ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.1 ล้านบาร์เรล

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา API เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐร่วงลง 5.5 ล้านบาร์เรลสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการนำเข้าที่ลดลง ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 390,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 0.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ