ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จีนอาจจะขาดแรงผลักดันการขยายตัวในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางจีนประกาศขึ้นสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) อีก รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จีนจะใช้มาตรการที่มีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ธนาคารกลางจีนได้ประกาศขึ้นสัดส่วนการกันสำรองแบงก์พาณิชย์อีก 0.50% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการกันสำรองของธนาคารขนาดใหญ่ของจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 21.5% โดยการปรับขึ้น RRR ครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค.ที่ปรับตัวสูงขึ้น 5.5% ทำสถิตินิวไฮนับตั้งแต่ปี 2551
ขณะเดียวกันยอดปล่อยกู้ใหม่ของธนาคารพาณิชย์จีนในเดือนพ.ค.และปริมาณเงินที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 บ่งชี้ถึงผลพวงจากการใช้มาตรการคุมเข้ม โดยยอดการปล่อยเงินกู้ครั้งใหม่ ซึ่งถือเป็นดัชนีบ่งชี้ที่สำคัญของนโยบายการเงิน ร่วงลงมาอยู่ที่ 5.516 แสนล้านหยวน (8.486 หมื่นล้านดอลลาร์) ในเดือนพค. จากระดับ 7.396 แสนล้านหยวนในเดือนเม.ย.
ทั้งนี้ คาดว่าการใช้โนยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่องเพื่อดูดซับสภาพคล่อง จะทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ชะลอตัวลงและสกัดช่วงขาขึ้นของราคา ในขณะเดียวกัน เนื่องด้วยต้นทุนทางการเงินของบริษัทต่างๆกำลังปรับตัวสูงขึ้น พร้อมๆไปกับการควบคุมสภาพคล่อง ตลาดก็จะคาดการณ์ถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลสืบเนื่องให้ตลาดทุนลดความร้อนแรงลงด้วยเช่นกัน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ภายในประเทศซึ่งมีการซื้อขายในกรอบกว้างๆมาช่วงหนึ่งนั้น อาจจะปรับฐานในระยะใกล้นี้