ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: วิตกหนี้กรีซ,ศก.สหรัฐ ฉุดน้ำมันดิบปิดร่วง $4.56

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 16, 2011 06:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงมากกว่า 4 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (15 มิ.ย.) หลังจากมีรายงานว่าชาวกรีซหลายพันคนได้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่า วิกฤตหนี้กรีซอาจฉุดรั้งเศรษฐกิจยุโรปให้อ่อนแอลง และจะส่งผลให้ความต้องการพลังงานหดตัวลงด้วย นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ รวมถึงข้อมูลในภาคการผลิต

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ค.ร่วงลง 4.56 ดอลลาร์ หรือ 4.59% ปิดที่ 94.81 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนก.ค.ร่วงลง 6.34 ดอลลาร์ หรือ 5.3% ปิดที่ 113.01 ดอลลาร์/บาร์เรล

นักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันเพราะกังวลว่า วิกฤตหนี้สาธารณะที่กำลังบานปลายกลายเป็นประเด็นทางการเมืองของกรีซนั้น จะฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซนและทำให้ความต้องการพลังงานอ่อนแอลงด้วย โดยมีรายงานว่าประชาชนชาวกรีซหลายพันคนได้ออกมาชุมนุมประท้วงบนถนนหลายสายในกรุงเอเธนส์ เพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล รวมถึงการลดงบประมาณการใช้จ่ายในภาคส่วนที่สำคัญ เพื่อให้มีคุณสมบัติเพียงพอต่อการรับความช่วยเหลือครั้งใหม่จากไอเอ็มเอฟและอียู

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประท้วงยังพยายามกดดันให้นายจอร์จ ปาปันเดรอู นายกรัฐมนตรีของกรีซลาออก แต่นายกรัฐมนตรีปาปันเดรอูยืนยันว่า เขาจะจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่หลังจากการประชุมสมัยสมัญของรัฐสภาเสร็จสิ้นลง

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในกรีซได้บดบังปัจจัยลบจากรายงานของสำนักงานสารนิเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) ที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่แล้วร่วงลง 3.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 1.9 ล้านบาร์เรล

ตลาดน้ำมันดิบถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ โดยผลการสำรวจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กพบว่า ดัชนีกิจกรรมด้านการผลิตในรัฐนิวยอร์ก หรือดัชนี Empire State ร่วงลงเกือบ 20% สู่ระดับ 7.79 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว และยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ 12 จุด

ขณะที่ดัชนีภาคการผลิตโดยรวมของสหรัฐขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนพ.ค. เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิตยังคงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ยุโรปทำให้นักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งมีความปลอดภัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ