นายโนบุโอะ ทานากะ ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยว่า 28 ชาติสมาชิกของ IEA ซึ่งรวมถึงสหรัฐด้วยนั้น ได้ตัดสินใจที่จะระบายน้ำมัน 60 ล้านบาร์เรลจากคลังยุทธภัณฑ์สำรองเข้าสู่ตลาด โดยจะทยอยการระบายน้ำมันออกจากคลังวันละ 2 ล้านบาร์เรลติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน เพื่อบรรเทาภาวะอุปทานพลังงานตึงตัว อันเป็นผลมาจากสถานการณ์รุนแรงในลิเบีย และเพื่อสกัดกั้นการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
นายทานากะกล่าวว่า ที่ผ่านมานั้น ภาวะอุปทานตึงตัวในตลาดส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง และกำลังส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก นอกจากนี้ นายทานากะกล่าวว่า การที่ญี่ปุ่นมีความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการบูรณะฟื้นฟูประเทศหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น นับเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ IEA ระบายน้ำมันออกจากคลังในครั้งนี้
"28 ชาติสมาชิกของเราได้ตัดสินใจระบายน้ำมันออกจากคลังยุทธภัณฑ์สำรองเพื่อชดเชยอุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่หดตัวลง ผมคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มอุปทานพลังงานในตลาด และจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกให้สามารถฟื้นตัวต่อไปได้" นายทานากะกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงปารีสเมื่อคืนนี้ตามเวลาประเทศไทย
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นับเป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์การก่อตั้ง IEA ที่ 28 ชาติสมาชิกของ IEA ตัดสินใจระบายน้ำมันออกจากคลังยุทธภัณฑ์สำรอง โดยการตัดสินใจครั้งแรกมีขึ้นในปี 2534 เมื่อเกิดวิกฤตการณ์พลังงานทั่วโลกหลังจากกองกำลังของรัฐบาลอิรักภายใต้การนำของซัดดัม ฮุสเซน ได้บุกโจมตีคูเวต และครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี 2548 เมื่อพายุเฮอริเคนแคทรินาได้สร้างความเสียหายต่อโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐ
สมาชิก IEA ได้ประกาศความพร้อมที่จะระบายน้ำมันออกจากคลังยุทธภัณฑ์สำรองนับตั้งแต่ที่ประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการเพิ่มเพดานการผลิตน้ำมัน ในการประชุมหลังสุดเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ข่าว IEA ประกาศระบายน้ำมัน 60 ล้านบาร์เรลออกจากคลังยุทธภัณฑ์สำรองได้ฉุดสัญญาน้ำมันดิบ NYMEX เดือนส.ค.ร่วงลง 4.39 ดอลลาร์ หรือ 4.6% ปิดที่ 91.02 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.)