สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (14 ก.ค.) หลังจากมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูงสุดที่ AAA เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า รัฐสภาสหรัฐจะไม่สามารถประนีประนอมกันเพื่อปรับเพิ่มเพดานหนี้เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ทันกำหนดเส้นตายต้นเดือนส.ค.นี้ รวมถึงการที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ระบุว่าเฟดจะยังไม่ใช้มาตรการ QE3 ในระยะใกล้นี้
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.ปิดปรับตัวลง 2.36 ดอลลาร์ หรือ 2.41% แตะที่ 95.69 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนส.ค.ปิดลดลง 46 เซนต์ หรือ 0.39% แตะที่ 118.32 ดอลลาร์/บาร์เรล
มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดที่ AAA มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2460 โดยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2538 ที่มูดีส์ทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐ โดยระบุว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า รัฐสภาสหรัฐจะไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางได้ทันกำหนดเส้นตายวันที่ 2 สิงหาคมนี้ เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
โดยในขณะที่การเจรจาเรื่องเพดานหนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดน้ำมันก็ถูกกดดันจากคำเตือนของมูดีส์
นอกจากนี้ ในระหว่างการแถลงต่อสภาคองเกรสวันที่ 2 นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ระบุว่า เฟดยังไม่พร้อมที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ในเวลานี้
“ณ จุดนี้ เราไม่ได้เตรียมการที่จะใช้มาตรการเพิ่มเติม" เบอร์นันเก้กล่าวตอบข้อซักถามของนายทิม จอห์นสัน ประธานคณะกรรมการการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวได้ทำลายความหวังของนักลงทุนที่เพิ่งถูกจุดปะทุขึ้นก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งวัน จากการที่นายเบอร์นันเก้เองได้แถลงต่อรัฐสภาสหรัฐเมื่อวันพุธว่า เฟดพร้อมที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสาม หรือ QE3 หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจเผชิญกับภาวะขาลง
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การกลับคำพูดของประธานธนาคารกลางสหรัฐส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันร่วงลง
ในทางกลับกัน ดอลลาร์ปรับตัวขึ้นจากถ้อยแถลงที่ว่าจะไม่มีการใช้มาตรการ QE3 ในทันทีทันใด ซึ่งสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นได้กดดันราคาน้ำมันเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันได้รับปัจจัยหนุนอยู่บ้าง เมื่อกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ค. ลดลง 22,000 ราย สู่ระดับ 405,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือน และเป็นการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น