สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนเมื่อคืนนี้ (4 ส.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า วิกฤตหนี้ยุโรปและความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบใหม่นั้น จะส่งผลให้ความต้องการพลังงานหดตัวลงอย่างหนัก
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ย.ร่วงลง 5.30 ดอลลาร์ หรือ 5.77% ปิดที่ 86.63 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนก.ย.ร่วงลง 5.98 ดอลลาร์ หรือ 5.28% ปิดที่ 107.25 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบดิ่งลงเกือบ 6% และปิดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกทำให้นักลงทุนกระหน่ำขาย ซึ่งส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงติดต่อกัน 5 วันทำการ และปรับตัวลงโดยรวม 10.81% หรือ 11% นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.ปีนี้
เรย์มอนด์ คาร์โบน ประธานบริษัท พาราเมาท์ ออพชันส์ ซึ่งเป็นบริษัทโบรกเกอร์ค้าน้ำมันของสหรัฐกล่าวว่า "สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงสู่กรอบใหม่ที่ 64.25 - 87.15 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นกรอบที่เรามองว่าเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากแรงขายทางเทคนิค และสาเหตุที่ทำให้เกิดแรงเทขายก็คือกระแสความวิตกกังวลที่ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะทำให้อุปสงค์พลังงานหดตัวลง"
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตหนี้สินในสหรัฐ นักลงทุนในตลาดน้ำมัน NYMEX ก็จับตาดูความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และพบว่ามีข้อมูลที่บ่งชี้มากมายว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบใหม่ แม้กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานเมื่อคืนนี้ว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการระหว่างว่างงานในรอบสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 400,000 รายก็ตาม
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูสถานการณ์ในยุโรปอย่างใกล้ชิด หลังจากค่าสเปรดของพันธบัตรอิตาลีและสเปนสูงขึ้นจนทำให้ตลาดตื่นตระหนก และล่าสุดในช่วงค่ำวานนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% พร้อมประกาศโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในยูโรโซนอีกครั้ง หลังจากที่ยุติโครงการดังกล่าวไปเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว โดยอีซีบีมีเป้าหมายที่จะยับยั้งการลุกลามของวิกฤตหนี้ยุโรป อย่างไรก็ตาม อีซีบีไม่ได้เปิดเผยแผนการเข้าซื้อพันธบัตรอิตาลีและสเปน
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ยุโรปส่งผลให้ตลาดหุ้นยุโรปและสกุลเงินยูโรร่วงลงอย่างรุนแรง และยังทำให้นักลงทุนแห่เทขายสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อถือเงินสดไว้
นอกเหนือจากวิกฤตหนี้ยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐแล้ว สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินเยน หลังจากทางการญี่ปุ่นประกาศแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราด้วยการเทขายเงินเยนและซื้อดอลลาร์ และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงินภายในประเทศอีก 1 ล้านล้านเยนเมื่อวานี้