ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: ข้อมูลศก.ผันผวนถ่วงราคาน้ำมันดิบปิดลดลง 34 เซนต์

ข่าวต่างประเทศ Saturday August 13, 2011 08:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (12 ส.ค.) หลังจากที่เคลื่อนไหวผันผวนอันเนื่องมาจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่มีทั้งบวกและลบ โดยยอดค้าปลีกสหรัฐที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบสี่เดือนถือเป็นสัญญาณบวกว่าเศรษฐกิจกำลังปรับตัวดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปีก็ยังคงทำให้แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันรายใหญ่สุดของโลกนั้น ยังคงมืดมน

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ย. ปรับตัวลง 34 เซนต์ หรือ 0.04% ปิดที่ 85.38 ดอลลาร์/บาร์เรล สำหรับตลอดสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบปิดลดลง 1.50 ดอลลาร์ หรือ 1.73%

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนก.ย.ขยับขึ้น 1 เซนต์ ปิดที่ 108.03 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 1.34 ดอลลาร์ หรือ 1.23% ในรอบสัปดาห์

ตลาดน้ำมันเคลื่อนไหวผันผวนเช่นเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐ หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจหลายตัวที่ส่งสัญญาณทั้งบวกและลบ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐและวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยังคงมีอยู่

ไคลี คูเปอร์ จากไอเอเอ็ฟ แอดไวเซอร์ กล่าวว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนตลาดน้ำมัน

เมื่อวันศุกร์ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้เปิดเผยยอดค้าปลีกที่ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนที่แล้ว โดยกระทรวงฯรายงานว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.5% สู่ระดับ 3.904 แสนล้านดอลลาร์ ในเดือนกรกฎาคม หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัว เพราะมีสัดส่วนถึงราว 70% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน รอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคมที่ลดลงแตะระดับ 54.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 31 ปี เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกหดหู่กับการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ค่าจ้างต่ำ และการเจรจาเรื่องเพดานหนี้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐจะลดลงมาอยู่ที่ 63.0 ในช่วงต้นเดือนส.ค. จากระดับ 63.7 ในช่วงท้ายเดือนก.ค.

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐยังเปิดเผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมิถุนายน ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนพฤษภาคม ที่แม้ว่าเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2553 และแม้ว่าโดยปกติแล้ว สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นถือเป็นการส่งสัญญาณบวก แต่นักเศรษฐศาสตร์บางรายยังมองว่า ภาคธุรกิจอาจลดสต็อกสินค้าในอนาคตอันใกล้ หากอัตราการขยายตัวของยอดขายหยุดชะงัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ