ยอดส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียอาจปรับตัวลดลงหากภาวะเศรษฐกิจในยุโรปยังชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งยุโรปเป็นหนึ่งในตลาดน้ำมันปาล์มที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย
หนังสือพิมพ์จาการ์ต้า โกลบ รายงานโดยอ้างคำกล่าวของนายฟาด์ฮิล ฮาซาน ประธานสมาคมผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอินโดนีเซียว่า ยุโรปเป็นตลาดส่งออกน้ำมันปาล์มที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของอินโดนีเซีย โดยยุโรปมียอดซื้อน้ำมันปาล์มในสัดส่วน 20% ของยอดส่งออกน้ำมันปาล์มของประเทศ ซึ่งภาวะชะลอตัวอาจฉุดรั้งอุปสงค์สินค้าโภคภัณฑ์ได้
"หากเศรษฐกิจยุโรปยังคงชะลอตัว เราอาจเห็นภาคการส่งออกที่ร่วงลงไปอยู่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อยในระดับ 17 ล้านตัน ในขณะที่ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐนั้นจะไม่มีผลกระทบรุนแรง เนื่องจากเราส่งออกสินค้าไปตลาดนี้น้อยมาก" เขากล่าว
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกได้กำหนดเป้าหมายการผลิตที่ 18 ล้านตันในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 15% จากระดับ 15.6 ล้านตันในปีที่แล้ว ซึ่งทางสมาคมจะยังคงมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆทั้งในประเทศยุโรปตะวันออก แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อรับมือกับการร่วงลงของยอดส่งออก แต่คาดว่าอุปสงค์จากอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด และจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป
ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อินโดนีเซียมียอดส่งออกน้ำมันปาล์มไปตลาดต่างประเทศที่ 8.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10% จากระดับ 7.47 ล้านตันในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา โดยยุโรปนำเข้าน้ำมัน 1.6 ล้านตันในครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปจะชะลอตัวลงและมีการรณรงค์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการปลูกปาล์มน้ำมันอยู่ก็ตาม
สำหรับยอดส่งออกไปอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดนั้นคาดว่าอยู่ที่ 6 ล้านตันในปีนี้ และคาดว่าจีน ตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 จะนำเข้าน้ำมันปาล์ม 2.5 ล้านตัน ส่วนยอดส่งออกไปยังสหรัฐคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 130,000 ตันในปีนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ตัดสินในที่จะตรึงภาษีส่งออกน้ำมันไว้ที่ 15% สำหรับเดือนก.ย. ซึ่งอาจกระตุ้นการแข่งขันด้านการส่งออกได้