สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (21 ก.ย.) เพราะได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม สัญญาปรับตัวลงในกรอบที่จำกัด เพราะตลาดได้แรงหนุนในระหว่างวันหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้มาตรการ Operation Twist เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐรายงานว่าสต็อกน้ำมันดิบร่วงลงเกินคาดในรอบสัปดาห์ที่แล้ว
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 1 ดอลลาร์ หรือ 1.15% ปิดที่ 85.92 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 85.80-87.99 ดอลลาร์
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ปรับตัวลง 18 เซนต์ หรือ 0.16% ปิดที่ 110.36 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 109.61-112.44 ดอลลาร์
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ปรับตัวลงเพราะได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) มีมติใช้มาตรการ Operation Twist แทนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสาม (QE3) โดยดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับ 6 สกุลเงินที่เป็นคู่ค้าหลักของสหรัฐ พุ่งขึ้น 0.8% เมื่อคืนนี้
อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงในกรอบที่จำกัด เนื่องจากภาวะการซื้อขายโดยรวมได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนมองว่าการที่เฟดประกาศใช้มาตรการ Operation Twist ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีอายุการไถ่ถอน 6-30 ปีวงเงินรวม 4 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมกับขายพันธบัตรอายุ 3 ปีหรือต่ำกว่านั้น อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้น และทำให้ความต้องการพลังงานดีดตัวขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกหลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งบ่งชี้ว่าความต้องการพลังงานในสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง แม้เศรษฐกิจยังคงเผชิญกับภาวะที่ไม่แน่นอนก็ตาม
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 16 ก.ย. ร่วงลง 7.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 339.0 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงเพียง 1.3 ล้านบาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นลดลง 900,000 บาร์เรล สู่ระดับ 157.6 ล้านบาร์เรล ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 3.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 214.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.2 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.3% สู่ระดับ 88.3% ตรงข้ามกับที่คาดว่าจะลดลง 0.9%