สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (21 ก.ย.) หลังจากสหรัฐและจีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนที่หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเผชิญกับช่วงขาลง ยิ่งเพิ่มความกังวลให้กับนักลงทุนมากขึ้นว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจะทำให้ความต้องการพลังงานอ่อนแอลงด้วย
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 5.41 ดอลลาร์ หรือ 6.30% ปิดที่ 80.51 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรลในระหว่างวัน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์เดือนพ.ย.ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ดิ่งลง 4.87 ดอลลาร์ หรือ 4.41% ปิดที่ 105.49 ดอลลาร์/บาร์เรล
ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของประเทศทั่วโลกทำให้นักลงทุนกังวลว่าความต้องการพลังงานอาจหดตัวลงด้วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ฉุดสัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ดิ่งลงกว่า 6% โดยเอชเอสบีซีเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนก.ย. หดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนที่ 49.4 จุด จากเดือนส.ค.ที่ระดับ 49.9 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดัชนี PMI ที่เคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 50 จุดบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนหดตัวลง และการที่ภาคการผลิตของจีนหดตัวลงติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือนสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการควบคุมการขยายตัวของเศรษฐกิจเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ นอกจากนี้ เศรษฐกิจและการค้าของจีนยังได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกด้วย
นักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบมากขึ้นเมื่อมากิตส์ อิโคโนมิกรายงานว่า ดัชนี PMI ภาคบริการของเยอรมนีร่วงลงสู่ระดับ 50.8 จุดในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2552 จากเดือนส.ค.ที่ระดับ 51.3 จุด และดัชนี (PMI) ภาคธุรกิจของยูโรโซนหดตัวลงสู่ระดับ 49.1 ในเดือนก.ย. จากระดับ 51.5 ในเดือนส.ค. ซึ่งถือเป็นการหดตัวลงครั้งแรกในรอบ 2 ปี
นอกจากนี้ สหรัฐรายงานว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 17 ก.ย.ลดลง 9,000 ราย สู่ระดับ 423,000 ราย ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 420,000 รายจากสัปดาห์ก่อนหน้านั้นที่ระดับ 432,000 ราย
ทั้งนี้ แม้เฟดประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Operation Twist ในการประชุมครั้งล่าสุด แต่การที่เฟดเตือนว่า "เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเผชิญกับช่วงขาลง" ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนในตลาดน้ำมันนิวยอร์กเป็นอย่างมาก
นอกเหนือจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจทั่วโลกแล้ว ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังได้รับปัจจัยลบจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับ 6 สกุลเงินที่เป็นคู่ค้าหลักของสหรัฐ พุ่งขึ้น 1.5 % เมื่อคืนนี้