ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบพุ่ง $4.01 หลังสต็อกน้ำมันร่วงเกินคาด

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 6, 2011 06:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 5% เมื่อคืนนี้ (5 ต.ค.) หลังจากสำนักงานสารนิเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่แล้วลดลงอย่างเหนือความคาดหมาย และ ADP ระบุว่าภาคเอกชนของสหรัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนก.ย. ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจและอุปสงค์พลังงานมากขึ้น

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.พุ่งขึ้น 4.01 ดอลลาร์ หรือ 5.30% ปิดที่ 79.68 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 76.94-79.79 ดอลลาร์

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.พุ่งขึ้น 2.94 ดอลลาร์ หรือ 2.95% ปิดที่ 102.73 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 100.66-102.84 ดอลลาร์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX พุ่งขึ้นหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานว่าสต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.ร่วงลง 4.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 336.3 ล้านบาร์เรล ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล

ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นลดลง 700,000 บาร์เรล สู่ระดับ 156.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 600,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินร่วงลง 1.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 213.7 ล้านบาร์เรล ตรงข้ามกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 0.1% สู่ระดับ 87.7% น้อยกว่าที่คาดว่าจะลดลง 0.7%

การร่วงลงอย่างเหนือความคาดหมายของสต็อกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทอื่นๆทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า ความต้องการพลังงานในสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง

ตลาดน้ำมัน NYMEX ได้แรงหนุนเพิ่มขึ้นเมื่อ ADP Employer Services ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านตลาดแรงงานในสหรัฐเปิดเผยว่า ภาคเอกชนทั่วสหรัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 91,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. มากกว่าเดือนส.ค.ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 89,000 ตำแหน่ง และยังมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 75,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากรายงานที่ว่าที่ประชุมรมว.คลังยุโรปมีมติเห็นชอบให้เพิ่มทุนให้กับธนาคารพาณิชย์ในยุโรป เพื่อป้องกันไม่ให้ภาคธนาคารได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ