สกย.วางมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง,ตั้งตลาดร่วมไทย-อินโดฯ-มาเลย์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 12, 2011 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เปิดเผยว่า ในการประชุมกำหนดมาตรการการรักษาเสถียรภาพราคายางวานนี้ มีความเห็นร่วมกันในการขอความร่วมมือจากผู้ส่งออกยางพาราให้ซื้อยางในราคาไม่ต่ำกว่า 120 บาท/กก. ตลอดจนการเสนอให้รัฐบาลชุดนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายยางพาราแห่งชาติ (กนย.) เพื่อมาดูแลและบริหารจัดการนโยบายด้านยางพาราอีกครั้ง

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคายางนั้นมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการเก็บ stock ของประเทศจีน เกี่ยวกับความรู้สึกของตลาด ข่าวลือต่างๆ ในช่วงที่ราคาปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วนั้น บริษัทอยู่ได้เพราะซื้อยางในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง และในปัจจุบันนั้น บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ ได้ทำหนังสือเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งขอความร่วมมือประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย ให้มีมาตรการร่วมรักษาราคายางให้อยู่ที่ 300 เซ็นต์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งสองประเทศ

นอกจากนั้น จะจัดตั้งตลาดร่วม 3 ประเทศ (regional market) ซึ่งจะมีตลาดสินค้าล่วงหน้าแห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนของประเทศไทย เพื่อจะได้ตั้งราคาซื้อขายยางได้เอง ไม่ต้องอิงราคาจากตลาดอื่นๆ และอยากให้สวนยางในประเทศไทยนั้นสามารถขาย carbon credit ได้ด้วย ดังนั้น หากจะมีการเก็บสต๊อกยางของรัฐบาล ควรให้มีการเก็บในช่วงสั้นๆ มิฉะนั้นก็จะเป็นปัจจัยให้ราคายางตกต่ำอีก ควรให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางธรรมชาติจากปัจจุบันใช้ 40% ให้เพิ่มเป็น 50% และยกเลิก BOI ของอุตสาหกรรมยาง ต้นน้ำ และกลางน้ำ

พร้อมทั้ง เสนอให้มีการบริหารเงิน Cess มาใช้ในการวิจัยการแปรรรูปผลิตภัณฑ์สำหรับวิสาหกิจชุมชน

นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็กซ์คอร์ปเปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันราคายางนั้นขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง และการรับซื้อยางในแต่ละวันถูกกำหนดราคาโดยผู้ซื้อรายย่อย (ยี่ปั้ว) เป็นหลัก ซึ่งการสรุปราคาในแต่ละวันไม่ได้สรุปช่วงเช้า แต่จะสรุปช่วงบ่าย ส่วนเรื่องการทำสต๊อกยางนั้นสามารถบูรณาการ เพื่อรักษาเสถียรภาพได้ แต่จะดูเฉพาะประเทศไทยไม่ได้ ต้องพิจารณาจากตลาดโลกด้วย และ ด้านนายชำนาญ นพคุณขจร บริษัทเซาท์แลนด์รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า เป็นเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสบายใจได้ว่าไม่มีใครสามารถมากำหนดราคาได้ และการบริหารสต๊อกยางนั้นต้องมีความเข้าใจ เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยในการบริหารจัดการอยู่มาก

ทางด้าน ดร.ถาวร เรืองวรุณวัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด ให้ความเห็นว่า หากจะให้มีการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำระยะสั้น ควรให้ สกย. ขอความร่วมมือจากผู้ส่งออกยางให้ซื้อยางในราคาไม่ต่ำกว่า 120 บาท/กิโลกรัม และขอความร่วมมือจากเกษตรกรถ้าราคาไม่ถึง 120 บาทก็จะไม่ขาย

ด้านผู้นำเกษตรกร นายอุดมศักดิ์ ศุทธิเวทิน รองประธานเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (คชยท.) กล่าวว่า หากราคายางต่ำกว่า 120 บาท ทางเกษตรกรชาวสวนยางจะเสนอให้รัฐบาลเข้ามามีมาตรการช่วยเหลือ ผู้ส่งออกกับเกษตรกรควรเข้ามาหารือกัน เพราะจากข้อมูลปริมาณยางตอนนี้มีจำนวนน้อย แต่ทำไมราคาถึงต่ำกว่า 120 บาท มองว่าทำไมปีที่ผ่านมาปริมาณผลผลิตมากราคาก็มาก แต่ขณะนี้ผลผลิตน้อยราคากลับน้อยด้วย

นายสิริชัย ห่านวิบูลย์พงศ์ คณะกรรมการ คชยท. กล่าวว่า ควรเสนอรัฐบาลกำหนดให้มีการจัดทำแผนแม่บทฯ เพื่อรองรับราคายางพาราที่ตกต่ำ โดยวิธีการรับจำนำยางพารา ตามที่คณะกรรมการกำหนด

ด้านนายประยงค์ รณรงค์ ประธานศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง กล่าวว่า ถ้ามีการจัดการปริมาณการขายยางให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อก็อาจทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น และในปัจจุบันมีประเทศผู้ปลูกยางมากว่า 30 ประเทศ ซึ่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะส่งผลต่อราคายางพาราแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ