ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: วิตกหนี้ยุโรปฉุดน้ำมันดิบปิดลบ 1.64 ดอลล์

ข่าวต่างประเทศ Tuesday December 13, 2011 06:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (12 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าข้อตกลงการใช้มาตรการคุมเข้มด้านการคลังที่ผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ทำร่วมกันในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานั้น อาจจะไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนม.ค.ปิดลบ 1.64 ดอลลาร์ หรือ 1.78% แตะที่ 97.77 ดอลลาร์/ดอลลาร์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 97.54-99.68 ดอลลาร์

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนม.ค.ร่วงลง 1.36 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 107.26 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 107.00-108.75 ดอลลาร์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงเนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจว่าข้อตกลงในการใช้มาตรการคุมเข้มด้านการคลังของผู้นำอียูจะสามารถควบคุมวิกฤตหนี้ได้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมถึงการกำหนดว่าประเทศสมาชิกยูโรโซนจะมียอดขาดดุลงบประมาณต่อปีได้ไม่เกิน 0.5% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) พร้อมกับจัดหาเงินทุนวงเงิน 2 แสนล้านยูโรให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

นอกจากนี้ ตลายังได้รับแรงกดดันมากขึ้นเมื่อสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำทั้ง 3 แห่ง ซึ่งได้แก่ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส, ฟิทช์ เรทติงส์ และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ได้แสดงมุมมองในด้านลบต่อผลการประชุมสุดยอดผู้นำอียู โดยมูดีส์ประกาศว่าจะทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของ 27 ประเทศสมาชิกอียูในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำทั้ง 3 แห่งมีความคิดเห็นที่คล้ายกันว่า ผู้นำอียูไม่ได้ประกาศใช้มาตรการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ไขวิกฤตหนี้ยุโรป ในการประชุมครั้งนี้

นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยในวันพุธนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าสต็อกน้ำมันดิบจะลดลง 1.6 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะเพิ่มขึ้น 900,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันจะลดลง 0.3%

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ โดยมีการคาดการณ์ว่า รมว.คลังกลุ่มโอเปคอาจจะไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการปรับเพิ่มโควต้าการผลิต หลังจากซาอุดิอาระเบียได้ปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบในเดือนพ.ย.เป็น 9.4 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี พร้อมประกาศว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการที่สูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ