ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบร่วง $5.19 หลังโอเปกกำหนดเพดานผลิต

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 15, 2011 07:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (14 ธ.ค.) โดยสัญญาน้ำมันดิบดิ่งลงกว่า 5% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.เป็นต้นมา หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) มีมติให้กำหนดเพดานการผลิตที่ 30 ล้านบาร์เรล/วัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนม.ค.ร่วงลง 5.19 ดอลลาร์ หรือ 5.18% ปิดที่ 94.95 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 100.33 - 94.21 ดอลลาร์

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนม.ค.ร่วงลง 4.48 ดอลลาร์ หรือ 4.1% ปิดที่ 105.02 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 104.36-109.50 ดอลลาร์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ปิดร่วงลงกว่า 5% หลังจากรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มโอเปกมีมติเป็นเอกฉันท์ให้กำหนดเพดานการผลิตน้ำมันดิบ 30 ล้านบาร์เรล/วัน และกล่าวว่าโอเปกพร้อมที่จะลดกำลังการผลิตหากปริมาณความต้องการในตลาดน้ำมันโลกปรับตัวลดลง

การกำหนดเพดานการผลิตของโอเปกในการประชุมซึ่งมีขึ้นเมื่อช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาไทย ถือเป็นการกำหนดเพดานครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากโอเปกเล็งเห็นว่ากำลังการผลิตที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรล/วันมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และโอเปกยังพิจารณาถึงประเด็นที่ว่า ลิเบียเริ่มกลับมาผลิตน้ำมันได้มากขึ้น หลังจากที่การผลิตน้ำมันของลิเบียต้องหยุดชะงักลงในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในปีนี้

นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับปัจจัยลบจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับยูโร และความวิตกกังวลที่ว่าวิกฤตหนี้ยุโรปอาจจะลุกลามเป็นวงกว้าง หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปีของอิตาลีพุ่งขึ้นแตะระดับ 6.47% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2540 หรือในรอบ 14 ปี หรือก่อนที่จะเริ่มมีการใช้เงินยูโรในปี 2542 ในการประชุมพันธบัตรเมื่อวานนี้

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ยุโรปได้บดบังปัจจัยลบจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 9 ธ.ค.ร่วงลง 1.93 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 334.15 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลง 1.6 ล้านบาร์เรล

ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 480,000 บาร์เรล สู่ระดับ 141.5 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะพุ่งขึ้น 900,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 3.82 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 218.82 ล้านบาร์เรล แต่ยังน้อยกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 2.6% สู่ระดับ 85.1% มากกว่าที่คาดว่าจะขยับลงเพียง 0.3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ