สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเป็นวันที่สามติดต่อกันเมื่อคืนนี้ (16 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้บดบังปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการคว่ำบาตรอิหร่าน
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 34 เซนต์ หรือ 0.36% ปิดที่ 93.53 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนไหวในกรอบ 92.52 - 94.79 ดอลลาร์ในระหว่างวัน สำหรับตลอดสัปดาห์ สัญญาน้ำมันดิบร่วงลง 5.88 ดอลลาร์ หรือ 5.91%
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ลดลง 25 เซนต์ หรือ 0.24% ปิดที่ 103.35 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ หลังจากที่ถูกเทขายอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดน้ำมันก็ยังคงซบเซาในวันสุดท้ายของสัปดาห์ โดยถึงแม้ว่าจะมีแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามาในตลาด แต่ปริมาณการซื้อขายก็ยังคงเบาบาง เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองเป็นลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยังคงกดดันอยู่
โดยคำเตือนจากฟิทช์ เรทติงส์ วานนี้ ถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของฝรั่งเศส และอีกหกประเทศในยูโรโซน ซึ่งรวมถึงอิตาลี สเปน และเบลเยียม ได้กระตุ้นให้เกิดแรงเทขาย
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันได้ปรับตัวขึ้นในช่วงแรกของการซื้อขาย เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงและการคว่ำบาตรอิหร่าน
เงินยูโรแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์ หลังจากที่รัฐบาลอิตาลีผ่านการลงมติไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างง่ายดายด้วยคะแนน 495 ต่อ 88 เสียง ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการลงมติของรัฐสภาเพื่อปูทางไปสู่การอนุมัติใช้แผนรัดเข็มขัดมูลค่า 3.3 หมื่นล้านยูโร (4.3 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศและเรียกความเชื่อมั่นในตลาดให้กลับคืนมา
ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงเป็นปัจจัยหนุนตลาดน้ำมัน เพราะทำให้ราคาสัญญาน้ำมันดิบที่ซื้อขายกันในสกุลเงินดอลลาร์มีราคาที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับแรงบวกจากสถานการณ์ตึงเครียดอันเนื่องมาจากโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยวานนี้ เกาหลีใต้ได้ประกาศใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่ออิหร่าน โดยสั่งห้ามการลงทุนใหม่ๆในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของประเทศ รวมถึงเพิ่มรายชื่อบุคคลหรือบริษัทของอิหร่านเข้ามาในบัญชีดำรายที่ถูกห้ามทำธุรกรรมทางการเงิน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเกาหลีใต้ รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศอื่นๆที่คาดว่าจะตามมาอีก ได้สร้างความวิตกให้กับนักลงทุนว่าอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันของอิหร่านและเป็นเหตุให้อุปทานน้ำมันของโลกตกอยู่ในความเสี่ยง
ขณะเดียวกัน ด่านศุลกากรที่สนามบิน Sheremetyevo ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย สามารถยึดวัสดุกัมมันตรังสีจากกระเป๋าเดินทางของผู้โดยสารรายหนึ่งที่กำลังจะเดินทางไปยังกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน